และนับวันจะสูญหายไปเรื่อยๆตามกาลเวลา ผิดกับเรือนภาคกลางที่มีการก่อสร้างไปเรื่อยๆ แถมยังระบาดไปตามภาคต่างๆทั่วประเทศ หนำซ้ำยังเลยข้ามน้ำ ข้ามทะเลไปอยู่เมืองนอกเมืองนา ให้เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยที่ได้ไปพบเห็น




เรือนกาแลแบบดั้งเดิมที่อนุรักษ์ไว้อย่างดี


ที่จริงแล้ว อย่างที่บอกไว้เกี่ยวกับเรื่องเรือนไทยภาคกลาง ลักษณะรูปทรงและการใช้งานนั้น ช่างไทยจะออกแบบด้วยภูมิปัญญาไทย ก่อสร้างปรับปรุงตามสภาพภูมิอากาศและขนบธรรมเนียมประเพณีประจำถิ่น ต่างคนต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เรือนกาแลจะมีรูปทรงที่บึกบึน หนักแน่นกว่าเรือนไทยภาคกลางที่อ่อนช้อย เพรียวลม เพราะภาคกลาง ร้อน ลมแรง เรือนที่สอบและเพรียวลมนี้เป็นการแก้ไขเรื่อง aero-dynamic ของช่างโบราณ คือให้ลมผ่านง่าย ไม่ต้านลม และมั่นคงแน่นหนาไม่สั่นไหว โยกเยกง่ายๆ นั่นเอง ส่วนเรือนกาแลนั้น ไม่อ่อนช้อยเพราะทางเหนืออากาศหนาวเย็น การวางตัวเรือนจึงมักสร้างเป็นเรือนแฝดติดกัน ไม่ต้องการให้โปร่ง อีกทั้งหลังคาก็ใช้วัสดุต่างกัน ถ้าชั่วคราวจะใช้ใบตองตึง ถ้าถาวรก็จะใช้กระเบื้องดินขอ รูปทรงหลังคาจึงต่างกันด้วย จะเป็นหลังคาคลุมยาวลงมาต่ำๆเลย ไม่มีชายคาอีกชั้นหนึ่ง




เรือนกาแลแบบดั้งเดิมหลังนี้ปลูกติดกับสระน้ำเลย ไม่ค่อยพบ




เรือนล้านนาปลูกใหม่ อยู่ริมปิงของท่านคึกฤทธิ์ เป็นเรือนแบบประยุกต์ คือนำรูปแบบการวางเรือนแบบภาคกลางไปใช้ มีชานแล่นอยู่กลาง แต่ทรงเรือนใช้เรือนล้านนา มีกาแล




นี่เป็นเรือนล้านนาประยุกต์หลังใหญ่ แต่ก็ออกแบบได้สวยงามมาก


เรือนกาแลทางภาคเหนือนี้ ที่เชียงใหม่จะมีมากที่สุด และมีวิวัฒนาการของชาวล้านนามาเอง เทคนิคการก่อสร้าง การเข้าไม้ก็จะต่างจากเรือนภาคกลาง มีส่วนประกอบต่างๆที่ไม่มีในเรือนไทยภาคกลาง ที่เด่นชัดโดยเฉพาะคือมักนิยมเรือนแฝดติดกัน เป็นหลังใหญ่และเล็ก หลังใหญ่ใช้เป็นห้องนอนและรับแขก หลังเล็กเป็นเรือนอยู่อาศัย หรือครัวไฟ จั่วมีกาแลแกะสลักประดับบนยอด และเหนือประตูมีไม้แกะสลักเรียกหำยนต์ ทางเหนือจะมียุ้งข้าวเป็นหลังเล็กๆแยกอยู่อีกต่างหาก (หลายปีมานี่คนนิยมซื้อมาปลูกเป็นเรือนไทยหลังเล็กกันเยอะ ตอนนี้หายากแล้ว ) ค้ำยันก็จะมีการแกะสลัดลวดลายสวยงามเช่นกัน และที่สำคัญเขาจะมีร้านน้ำ คือซุ้มเล็กๆ วางหม้อน้ำดินเผาให้สำหรับแขกหรือคนผ่านไปมาดื่ม บางบ้านจะมีอยู่ที่ชานบ้าน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่รั้วเลย แสดงถึงความมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันของชาวเหนือ ผมมีน้าอยู่คนหนึ่งแกทำงานอยู่หาดใหญ่ วันหนึ่งเพื่อนแกชวนไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็เอากระเป๋าไปใบเดียว แล้วก็ไม่กลับมาทำงานเลย ของที่หาดใหญ่ก็ให้เพื่อนทยอยส่งขึ้นไปที่เชียงใหม่เรื่อยๆ ประกอบกับความที่มีเพื่อนมาก(ศิษย์เก่าอำนวยศิลป์) มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ทำให้แกอยู่เที่ยวที่เชียงใหม่นานถึง 7 ปี แถมมีเมียมีลูกโดยไม่รู้ตัวแล้วถึงย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ นี่แสดงถึงเสน่ห์ของเมืองเหนือหรือมนต์เมืองเหนือจริงๆ




ถ้าหลังเล็กๆอย่างนี้แสดงว่าเอายุ้งข้าวมาดัดแปลง




ภายในเรือน อยู่แบบง่ายๆแต่ข้าวของเครื่องใช้ก็เป็นของทางเหนือโดยเฉพาะพวกภาชนะเครื่องเขินต่างๆ


นอกจากเรือนกาแลแล้ว เรือนไทยทางภาคใต้ และภาคอีสานดูเหมือนว่าจะไม่มีเอกลักษณ์เด่นชัดนักจึงไม่เป็นที่นิยมของคนต่างถิ่นแต่ประการใด และนับวันก็จะหดหายไปเช่นเดียวกับเรือนกาแลเช่นกัน ก่อนนี้ผมเคยไปทำธุระอยู่ภูเก็ตตอนยังไม่เจริญเท่าไหร่ หากป่าตองรถยังเข้าไปไม่สะดวกเลย แถมมีกระต๊อบขายน้ำอยู่หลังเดียว เคยเห็นบ้านไม้หลังกะทัดรัด ตามถนนหนทางอยู่มาก เดี๋ยวนี้ไปหายหมดแล้ว ลูกๆหลานๆจาวเหนือทั้งหลายถ้ามีโอกาส มีฐานะที่ดีพอสมควร อย่ามัวไปหลงบ้านปล่องไฟ บ้าน Loghome กันซะหมดนะครับ ปลูกเรือนล้านนาอยู่ แบบประยุกต์ก็สวยๆน่าอยู่ และอยู่สบายกว่ากันเยอะเลย...