ย่านลาดพร้าวถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วยสภาพที่มีแต่ป่าคอนกรีตอันแสนหยาบกระด้างและน่าอึดอัด ห่างไกลคำว่า "สดชื่นรื่นรมย์ " แต่มีบ้านหลังหนึ่งทำให้เรารู้สึกว่าได้อยู่ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียวขนาดมองเห็นได้ใกล้ตาและเดินก้าวเดียวถึง เราจะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสและรับรู้ถึงชั้นเชิงการออกแบบอันแยบคายของบ้านหลังนี้กัน

รูปลักษณ์ภายนอกของบ้านสามชั้นบนที่ดินขนาดเพียง 100 ตารางวาหลังนี้ดูสะดุดตา และบ่งบอกถึงความทันสมัย เจ้าของบ้านคือ คุณชโลธรและคุณดวงกมล บรรณวิรุฬห์ พร้อมด้วยสมาชิกตัวน้อยของครอบครัวอีกสองคน ตัวบ้านก่อสร้างภายใต้แนวคิดของผู้ออกแบบที่พยายามหาคำตอบให้โจทย์ที่ได้รับมา คุณศรีศักดิ์ พัฒนวศิน สถาปนิกผู้ออกแบบเล่าให้เราฟังว่า
  
"แนวคิดหลักคือ ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันของเจ้าของ การออกแบบบ้านหลังนี้เป็นผลมาจากปัจจัยบริบทแวดล้อมของเมือง ที่ดินมีราคาสูงขึ้น แปลงที่ดินมีขนาดเล็กลง สภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างแออัดและขาดความเป็นส่วนตัวสูง จึงออกแบบแปลนอาคารให้สอดคล้องกับจังหวะการดำเนินชีวิต โดยมีลำดับความเป็นส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ไล่จากด้านหน้าที่ดินที่ติดถนนไปจนถึงด้านหลังบ้าน โครงร่างของอาคารมีการแบ่งผนังให้วางตัวขนานกันเป็นจังหวะตามการใช้สอยภายในบ้าน และเกิดผลลัพธ์เป็นพื้นที่เปิดโล่ง (court) 4 แห่ง เชื่อมต่อที่ว่างภายในกับภายนอกบ้าน ทั้งด้านมุมมองและการใช้งาน จึงให้ชื่อว่าบ้าน 4C House"                                                                       
 
การเชื่อมต่อที่ว่างนอกจากจะมีลักษณะการเชื่อมต่อทางแนวนอน ( สวนภายนอก-พื้นที่ภายใน ) แล้ว การเชื่อมต่อทางแนวตั้งยังเกิดจากการเปิดช่องโล่งจากพื้นชั้นสองและชั้นสาม ซึ่งช่วยลดความอึดอัดของพื้นที่ขนาดเล็กและสร้างมิติของที่ว่างเพิ่มเข้าไป ทั้งด้านมุมมองและความรู้สึกที่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว
 
การจัดจังหวะอาคารด้านสกัดให้เกิดคอร์ต (cour)t สลับไปมา เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมภายในให้ดียิ่งขึ้น พื้นที่ภายในบ้านสามารถเชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอก โดยยังรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้  คุณดวงกมล เจ้าของบ้านฝ่ายหญิงบอกกับเราว่า " ในแง่การอยู่อาศัยนั้น ค่อนข้างพึงพอใจนะคะ เพราะเราสามารถมองเห็นส่วนต่างๆของบ้านได้อย่างทะลุถึงกันแทบทุกส่วน อย่างเช่นอยู่ตรงห้องทานข้าวก็สามารถมองเห็นลูกที่อยู่ในห้องนั่งเล่นได้ถนัดตา และถ้าอยู่ห้องนั่งเล่นก็มองเห็นบ่อปลาคาร์พกับสวนที่ขนาบอยู่ได้อย่างสบายตาและสดชื่น"

ผลลัพธ์ที่เกิดกับบ้านหลังนี้ตอบสนองความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยอย่างคุ้มค่าในทุกแง่มุม อันเป็นผลมาจากการพยายามหาคำตอบให้กับเงื่อนไขของบ้านที่อยู่ในชุมชนเมืองขนาดใหญ่ บทสรุปที่เราอยากให้คุณผู้อ่านได้รับรู้ คงมาจากสิ่งที่ผู้ออกแบบทิ้งท้ายไว้ว่า 

"สำหรับบ้านที่อยู่ในสังคมเมืองเช่นนี้ การออกแบบโดยสร้างสภาวะแวดล้อมใหม่ในที่ดินของตนเองก็เป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง แม้ว่าคอร์ตแต่ละแห่งจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก หากแต่คุณภาพของที่ว่างและตำแหน่งที่สัมพันธ์กับการใช้สอยภายในทำให้คอร์ตดังกล่าวมีประโยชน์ทั้งในแง่ของมุมมอง การใช้สอย การระบายอากาศ และที่สำคัญที่สุดคือความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยนั่นเอง " 
  
คอร์ต (court) เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึง ที่ว่างอันเกิดจากสิ่งก่อสร้างหรืออาคารที่โอบล้อมอยู่ โดยมากมักทำเป็นสวน หรือสร้างธรรมชาติจำลอง อาทิ บ่อน้ำ สวนหิน ฯลฯ

วิเคราะห์คอร์ตบ้าน 4C House
C1 - COURT # 1 -  Fish pond court : เชื่อมต่อกับห้องรับแขก-พักผ่อน เจ้าของบ้านมีงานอดิเรกชอบเลี้ยงปลาคาร์พ พื้นที่ส่วนนี้สามารถเชื่อมต่อกับคอร์ตด้านหลังที่เป็นสวน โดยมีห้องรับแขก-พักผ่อนกั้นกลาง มีลมพัดผ่านตลอดในแนวทิศเหนือ-ใต้
C2 - COURT # 2  -  Service court: เป็นพื้นที่ซักล้างและตากผ้า พร้อมกับเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับแม่บ้าน
C3 - COURT # 3 -  Greeting tree court: เชื่อมต่อกับโถงทางเข้า สร้างบรรยากาศแห่งการเชื้อเชิญ และเป็นจุดสนใจก่อนเข้าถึงที่ว่างภายในบ้าน  กลางพื้นที่เปิดโล่งปลูกต้นสาละสูงชะลูดขนานไปกับโถงบันได และเป็นจุดพักสายตาสำหรับพื้นที่ทางสัญจรทุกชั้น ต้นไม้สูงยังช่วยกรองแสงแดดจากทิศตะวันตกในยามบ่ายด้วย
C4 - COURT # 4-  Garden court: เป็นคอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในบ้าน ประกอบด้วยชานไม้และพื้นที่สวน เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อนและจัดปาร์ตี้นอกบ้าน เพราะเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายในหลายส่วน ทั้งห้องรับแขก-พักผ่อน ทางเดินภายใน ส่วนเตรียมอาหาร และห้องรับประทานอาหาร