ชุดโต๊ะกินข้าวโบราณจากแม่ของสมปิติ เชิงเทียนจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
เพราะผูกพัน
The property
TYPE บ้านเดี่ยว 3 ชั้น
SPACE Garden room, มุมรับประทานอาหาร, ครัว, ห้องทำงาน, ห้องนั่งเล่น, ห้องดูโทรทัศน์, 1 ห้องนอน, 3 ห้องน้ำ และสวนบนระเบียงชั้น 3
LOCATION ถนนพหลโยธิน
ห้องทำงาน-ห้องนอน
วอลล์เปเปอร์จากประเทศอังกฤษ กรอบรูปภาพต้นตระกูลของปวิยดาตั้งอยู่บนโต๊ะส่วนกรอบรูปบนผนังเป็นการ์ดงานแต่งงาน 3 แบบ นาฬิกาโบราณและกรอบรูปปวิยดา ซื้อมาจากตลาดนัดจตุจักร ภายในห้องนอนเตียงไม้จากประเทศพม่าซื้อมาจากเชียงใหม่
Garden room
ปลอกหมอนอิงนำเข้าจากประเทศอินเดีย ปวิยดาซื้อจากร้านค้าภายในตึกอื้อจือเหลียง เก้าอี้หวายสั่งทำจากเชียงใหม่ ผนังเจาะช่องให้แสงเข้าเพิ่มความรู้สึกโปร่งสบาย พื้นซีเมนต์พิมพ์ลายโบราณต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากมีน้ำหกจะซึมทิ้งเป็นรอยด่างดวง ที่นั่งไม้บิลท์อินสามารถเปิดเพื่อเก็บของได้
ตามที่เจ้าของบ้านยืนยัน ไม่ใช่เพียงแค่เราที่เผลอเข้าใจผิดในครั้งแรกที่มาเยือนว่าบ้านหลังนี้น่าจะเป็นบ้านที่สร้างมาหลายสิบปี เพราะบ้านสวยที่คุณกำลังเห็นนี้ไม่ใช่บ้านโบราณแต่อย่างใด แต่เป็นบ้านที่ ปวิยดา (เอื้อง) ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดบริษัท ELCA (Thailand) Limited และ สมปิติ (เค) รัตนสุดใจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิยะฉัตร โบรคเกอร์ ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นเรือนหอ
"บ้านนี้เป็นบ้านที่ทำขึ้นมาใหม่ต่อออกมาจากบ้านเก่า บริเวณด้านหน้าเป็นบ้านของพ่อแม่พี่เค ตรงนี้เป็นที่โล่งหลังบ้าน เราก็เลยต่อบ้านขึ้นมาให้ติดกับบ้านเก่าเพื่อเป็นเรือนหอ” ปวิยดาเริ่มเล่าถึงที่มาของบ้าน “พี่เคอยากอยู่บริเวณเดียวกันกับครอบครัว เพราะบ้านพี่สาวก็อยู่ติดกันและพี่สาวอีกคนก็อยู่ในซอยนี้ คือทุกคนอยู่แถวนี้กันหมดเลย” และปวิยดาเองก็ชอบบ้านที่มีบริเวณเหมือนกัน “ถึงเอื้องจะอยู่คอนโดฯ มา 10 กว่าปี แต่ตอนเด็ก ๆ บ้านเอื้องเป็นแบบนี้เลย ตอนนี้บ้านหลังนี้จึงเหมือนจำลองบ้านเราเก่า ๆ สมัย 30-40 ปีที่แล้วมา คุ้นเคยกับมันมานาน”
เมื่อตัดสินใจจะสร้างเรือนหอ ปวิยดาเริ่มต้นเลือกแบบบ้านที่ชอบจากนิตยสารตกแต่งบ้านจำนวนมากที่เธอสะสมไว้ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ชานนท์ บุรานนท์ น้องชายที่เป็นอินทีเรีย ดีไซเนอร์ ก็เพิ่งกลับมาจากประเทศอังกฤษ เขาตกลงจะเป็นผู้ออกแบบบ้านให้ “พอได้คุยกันว่าจะทำเรือนหอ น้องชายก็บอกว่าจะช่วยออกแบบให้ เขาดูการบ้านที่เอื้องทำแล้วก็บอกว่าเข้าใจแล้วว่าชอบอะไร แม้ว่าเขาจะไม่เคยทำบ้านแนวนี้มาก่อน เพราะอยู่ที่อังกฤษก็ทำแต่สไตล์โมเดิร์น แต่ดีไซน์ออกมาครั้งแรกก็ใช่เลย นี่ล่ะที่เราต้องการ” ปวิยดาแสดงความชื่นชมในฝีมือน้องชาย
ปวิยดาซื้อวอลล์เปเปอร์เก่าลายผ้าไหมจากเพื่อนที่เคยขายและยังมีเหลืออยู่ในสต๊อกเป็นโคมไฟแขวนได้มาเป็นของขวัญวันแต่งงาน ตู้โชว์ของย่าของปวิยดาสมัยที่ท่านไปอยู่อังกฤษ กรอบกระจกซื้อจากเชียงใหม่นำเข้าจากอินเดีย
ภาพบ้านในความทรงจำของปวิยดาและสมปิติ ค่อย ๆ เป็นจริงขึ้นทีละเล็กละน้อย โดยมีเจ้าของบ้านฝ่ายชายเป็นผู้ดูแลเรื่องโครงสร้างสมปิติเล่าว่า “งานโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญครับ ต้องลงรายละเอียดเยอะ ๆ ไม่ว่าจะระบบน้ำ-ไฟ ตอนแรกเราจ้างให้หัวหน้าช่างมาทำ เราหาของมาเอง จ่ายเฉพาะค่าแรง แต่สุดท้ายก็ไม่ไหวต้องให้ผู้รับเหมามาแก้งานให้” ส่วนเรื่องของรายละเอียดภายในบ้าน ทั้งคู่ก็ดูจะสนุกกับการเฟ้นหาของที่ถูกใจจริง ๆ เท่านั้น “เราหาเองกันหมดเลย พื้นไม้เราก็ไปหากันเอง เราอยากได้พื้นไม้เก่า อยากเดินแล้วสัมผัสถึงความตะปุ่มตะปํ่าหรือตะปู ก็ขับรถไปหากันที่รังสิต ไปตั้งแต่คลอง 5 คลอง 6 จนถึงคลอง 20 ไล่ไปเรื่อย ๆ ไปดูทุกร้านเลย ไปเจอร้านหนึ่งตอนนั้นไม้เขาเพิ่งมาลง เป็นไม้ตะแบกจากโรงเรียนเก่าต่างจังหวัด มาทั้งโรงเรียนเลยก็เหมามาหมด หลังจากนั้นก็ต้องมาคอยเถียงกับพวกช่าง เพราะพวกช่างก็จะไม่เข้าใจนะ เขาพยายามไสให้มันเรียบ เราก็ต้องบอกว่า ไม่เอาจะให้เก็บทุกอย่างไว้หมดเลย” ปวิยดาเล่า
ชานนท์เป็นผู้ออกแบบครัว “เราต้องการตู้เก็บของเยอะ ๆ เป็นห้องเดียวที่ไม่อยากให้รกจะมีที่เก็บของเยอะมาก” ปวิยดากล่าว เคาน์เตอร์โต๊ะเตรียมอาหาร ปูด้วยหินแกรนิต
แน่นอนว่าไม่ใช่เท่านั้น ทั้งคู่ให้ความใส่ใจกับทุกรายละเอียดในบ้านหลังนี้ “อย่างวงกบประตูหน้าต่าง ก็ขับรถไปกันเอง ไปซื้อที่สุพรรณเพราะพี่เคมีคนรู้จัก ว่ากันว่าวงกบที่ดีควรจะเป็นไม้สัก และราคาที่นี่จะค่อนข้างถูก แต่คนทำวงกบก็บอกว่าเกิดมาไม่เคยทำวงกบยาว 2 เมตร 40 เซ็นติเมตรมาก่อน (ปวิยดาหัวเราะอารมณ์ดี) ลูกบิดก็บินขึ้นไปเลือกกันเองจากเชียงใหม่ คือหาเองหมดเลย สถาปนิกและน้องจะทำเป็นโครงให้เท่านั้น แต่รายละเอียดเราดูเอง อย่างสีก็ซื้อกันมากระป๋องเล็ก ๆ 5-6 กระป๋อง มาลองทาดูกันก่อน”
หลังจากที่บ้านได้เริ่มสร้าง น้องชายคนเก่งของปวิยดาก็ได้เสนอไอเดียดี ๆ ในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นห้องสวยสีขาวสะดุดตา ปวิยดาเล่าว่า “จริง ๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำชั้นล่างเป็นห้องเลยจะเป็นแค่ทางเข้าบ้าน บ้านเราจะเริ่มต้นเมื่อเข้ามาถึงครัว ทำบ้านไปได้สักพัก น้องชายมองไปมองมาก็บอกว่า ตรงนี้เป็นที่ ๆ ลมดี มีพื้นที่น่าจะทำเป็น Garden Room เป็นขาว ๆ เขียว ๆ มีต้นไม้มากกว่านะ เราก็มอง แล้วก็เอาเลย ทุกอย่างปรับเปลี่ยนตามใจฉันตลอดเวลา เพราะคุยกับน้องได้ เราโชคดีด้วยนะ ที่เขาไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่อีโก้ เขาจะฟัง แม้ว่าตอนสร้างบ้านเสร็จจะบ่นว่าบ้านหลังนี้เหนื่อยมาก เงินก็น้อย (ปวิยดา หัวเราะ)”
ชุดโต๊ะกาแฟสมัยลานนาจากโกดังเก่าที่เชียงใหม่
ชานนท์ยังแนะนำเรื่องการแต่งบ้านให้พี่สาวว่า บ้านสไตล์แบบนี้เสน่ห์อยู่ที่ของของเจ้าของบ้าน รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเล่าถึงประวัติความเป็นมา และความทรงจำของเจ้าของบ้านเพื่อให้มันเป็นบ้านของทั้งคู่อย่างแท้จริง ซึ่งปวิยดาก็สะสมเฟอร์นิเจอร์ชิ้นโปรดไว้ไม่น้อย “ก่อนหน้านี้เอื้องจะอยู่คอนโดฯ ก็มีของพวกนี้อยู่แล้ว จนตอนที่บ้านสร้างเสร็จ พอเราเข้ามา เวลาเห็นของที่เป็นอะไรที่ปู่ย่าตายายพ่อแม่พี่น้องของเราและรู้สึกผูกพันกับชิ้นนั้น เราก็ไปขอมาก่อน อย่างตู้เก็บเสื้อผ้าเก่าแต่งมุกของแม่พี่เคก็ขอก่อนนะ พอดีกับทีวีเลย (ยิ้มสดชื่น) หรือตั่งไม้นี้เราก็ชอบก็ขอแม่พี่เคมา แต่เบาะทำใหม่ จักรเย็บผ้าเก่าก็เป็นของยาย พี่เค ก็เอามาทำสีใหม่”
ขณะที่เรากำลังฟังปวิยดาเล่าเรื่องบ้านอย่างสนุกสนาน สมปิติก็อุ้มลูกสาว-พิมพ์ดาว (อายุ 6 เดือน) ออกมานั่งฟังด้วย พลางเล่าว่า “ตอนทำบ้านไม่ได้คิดว่าจะมีลูกกันเร็ว ไม่มีห้องลูกเลย ทำบ้านมา 3 ชั้น มีห้องนอนห้องเดียว ห้องน้ำใหญ่ห้องเดียว คิดว่าถ้ามีลูกค่อยปรับเปลี่ยนทีหลังได้ แต่พอโครงบ้านขึ้น เอื้องก็ท้องเลย และพอท้องจริง ๆ เราก็ไม่สามารถจะหาห้องให้ลูกได้จริง ๆ” หนุ่มสาวคู่นี้จึงแก้ไขปัญหาเรื่องห้องลูกโดยการขอใช้เนื้อที่ในบ้านหลังเดิมของสมปิติ “บ้านนี้ชั้น 2 จบที่ห้องนอน และพอบ้านเสร็จก็รู้แล้วว่าตู้เสื้อผ้าในห้องน้ำไม่พอเก็บเสื้อผ้าเอื้องแน่ ๆ พี่เคก็บอกว่าจะไปขอแม่ ขอเล็มลงไปในบ้านเขา ถึงต้องมีบันไดลงไปห้องแต่งตัวเพราะบ้านสูงไม่เท่ากัน ขอเล็มไปห้องหนึ่งพอคลอดลูก ก็เลยขอเล็มไปอีกห้องหนึ่ง ห้องลูกเลยไปอยู่ฝั่งบ้านแม่” ปวิยดาเสริม
กว่าจะได้บ้านสวยดังใจของคนสองคนที่มีความชอบแตกต่าง ทั้งคู่ก็ต้องอาศัยความรักและการประนีประนอมซึ่งกัน “ก็สนุกดีนะ หาของเถียงกันตลอด กระทั่งกระถางต้นไม้ เอื้องอยากได้ลายโบราณ พี่เคอยากได้สีเยอะ ๆ ไปซื้อลูกบิด เอื้องก็จะเลือกเป็นทองเหลืองแบบโบราณพี่เคเหลือบไปเห็นกระเบื้องลายดอกไม้ก็อยากได้ ขอซื้อ แต่เอื้องก็จะไม่ให้ซื้อ ไม่มีที่ติด แม้ว่าพี่เคจะขอไปติดตู้เสื้อผ้าตัวเอง เอื้องก็ไม่ให้เพราะผิดคอนเส็พท์บ้าน พี่เคจะเกลียดคำนี้มาก ผิดคอนเส็พท์บ้านเอื้องก็จะให้ทาสีแดงตรงชั้นหนังสือบิลท์อิน หรือม่านลายดอกกุหลาบในห้องน้ำ เอื้องก็ชอบสีนะ แต่ขอคุมโทนนิดหนึ่ง” ปวิยดาเล่าสนุก
และเมื่อเราถามถึงแผนการในอนาคตถึงสิ่งที่ทั้งคู่ต้องการต่อเติมในบ้านหลังนี้ ก็ดูเหมือนเจ้าของบ้านจะยังสนุกกับการจับโน่นแต่งนี่ได้ไม่มีเบื่อ “บ้านนี้ยังจะทำไปอีกเรื่อย ๆ จริง ๆ เราชอบบ้านรก รู้สึกว่าถ้าเป็นบ้านต้องรก ๆ เอื้องบอกคนทำบ้านทุกคนว่าเอื้องอยู่ไม่ได้นะบ้านที่เป็นบ้านโมเดิร์น บ้านเรียบ ๆ ไม่มีของวางอยู่ในบ้าน เอาฉันไปฆ่าเลยอยู่ไม่ได้ อยู่แล้วเหมือนจะหายใจไม่ออก คือเอื้องว่าบ้านต้องมีอะไรที่เป็นเรา ต้องอยู่จริง จะมาเก็บเรียบกริบเอื้องไม่อยู่นะ ก็บอกไว้ก่อนเดินไปมุมไหนในบ้านก็จะมีของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงความเป็นเราหมดเลย” ปวิยดาพูดทิ้งท้าย
ถึงแม้ข้าวของที่นำมาตกแต่งจะทำให้ทั้งคู่รู้สึกคุ้นเคยกับบ้านได้อย่างรวดเร็ว แต่เราก็เชื่อว่า เรื่องราวความอบอุ่นของครอบครัว ปวิยดา-สมปิติ และพิมพ์ดาว กลับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่มาเพิ่มเติมความผูกพันให้กับบ้านหลังนี้
ห้องน้ำโล่งกว้าง
ทั้งคู่เคยคิดจะวางอ่างอาบน้ำที่กลางห้อง แต่มาเปลี่ยนใจเมื่อบ้านใกล้เสร็จเพราะคิดว่าคงไม่ได้ใช้ ห้องน้ำสีเขียวดูสบายตา
มุมอ่านหนังสือ
ชั้นหนังสือจะวางของที่ทั้งสองซื้อเก็บไว้จากการไปท่องเที่ยวปวิยดาสะสมกรอบรูปจากที่ต่าง ๆ เช่น กรอบรูปไม้จากเมืองบาหลี ตุ๊กตาที่ระลึกจากประเทศเวียดนาม ภาพพิมพ์ในกรอบได้มาระหว่างการเดินทางไปล่องเรือฮันนีมูน
ห้องน้ำสีม่วง
พื้นปูกระเบื้องลำปาง ปวิยาดาสั่งทำอ่างล้างมือจากร้านที่เชียงใหม่ ในงานสถาปนิกแฟร์ หัวก๊อกทองเหลืองทรงดอกลั่นทมจากร้านสุริยันจันทรา ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่ กระจกได้เป็นของขวัญขึ้นบ้านใหม่ ผ้าม่านจากร้านลูกไม้ที่ตลาดสำเพ็งหน้าต่างกระจกลายดอกพิกุล ภาพเขียนจากประเทศจีน
สวน
“บ้านเราเลี้ยงสัตว์ เป็นช้าง” ปวิยดาเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงสนุกสนานเมื่อพาเราเดินไปชมสวนที่มองเห็นตึกช้างได้ชัดเจน “พี่เคเป็นคนเลือกทำสวนตรงนี้ เพราะตอนแรกชั้นนี้จะทำเป็นห้องนอนใหญ่ แต่พี่เคอยากได้สวนครึ่งชั้นเลย ไว้นั่งเล่นชวนเพื่อนมาปาร์ตี้ ต้องยกความดีความชอบให้” ทั้งคู่เลือกหาซื้อดอกไม้ที่เคยเห็นมาตั้งแต่วัยเด็กมาไว้ในสวน ทั้งต้นแก้ว มะลิ ปีบ โมก พุทธรักษา ดอกดาหลาเป็นดอกไม้ที่ปวิยดาเห็นบ่อย ๆ ที่หน้าบ้านคุณย่า และแพงพวยก็เป็นดอกไม้ที่สมปิติชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ
Home truths
เพลงที่ชอบ
ปวิยดา-สมปิติ: ปัจจุบันเราฟังข่าวมากกว่าแต่ก็ค้นพบสถานีวิทยุช่อง 88 สำหรับฟังเวลาขับรถ เพลงเบา ๆ ฟังแล้วสบายใจ
มุมโปรดในบ้าน
ปวิยดา: ตั่งหน้าทีวี เวลาเปิดหน้าต่างแล้วลมพัดเย็นสบาย
สมปิติ: ผมชอบชั้น 3 มุมต้นไม้สวน
กิจกรรมวันหยุด
ปวิยดา: เลี้ยงลูก
สมปิติ: ตีกอล์ฟ ปลูกต้นไม้ ทำกับข้าว
เป็นคนกลางวันหรือคนกลางคืน
ปวิยดา-สมปิติ: แต่ก่อนเป็นคนกลางคืนไม่เที่ยงคืนไม่นอน ปาร์ตี้กันตลอด แต่พอมีลูกแล้วกลายเป็นคนกลางวันเลย ง่วงเร็วมาก 3-4 ทุ่ม ก็นอนแล้ว
- โต๊ะข้างไม้ ราคา 12,000 บาท จาก Lacasa
- โคมไฟแขวนเพดาน ราคา 7,500 บาท จาก The English Lamb Chop
- โทรศัพท์สีดำ ราคา 1,600 บาท จาก 70’ UP
- กระจกเงา ราคา 6,500 บาท จาก The English Lamb Chop
- กรอบรปู สไตลห์ ลยุ ส ์ ราคา 500 บาท จาก 70’ UP
- ตู้โชว์ไม้หน้าบานและด้านข้างกรุกระจกใส ราคา 50,000 บาท จาก Lacasa
- เก้าอี้รถถังไม้สัก ราคา 5,000 บาท จาก รักษ์ของเก่า