บ้านหลังนี้มีพื้นที่รวม 350 ตารางเมตร ชั้นแรก เป็นโรงเก็บสะสมรถยนต์และเป็นอู่รถขนาดย่อม ใช้เก็บสะสมอะไหล่ และเครื่องมือปรับแต่งรถยนต์ ชั้นสองเป็นที่พักคุณแม่ของคุณดรุณพร ภายในประกอบด้วยห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และระเบียงด้านหลังที่เป็นทั้งครัวไทยและส่วนซักล้าง แต่ห้องที่คุณแม่ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นห้องนั่งเล่นที่อยู่ติดกับผนังกระจกติดฟิล์มกันแดดสีเทาเพื่อลดความจ้าของแสงที่ส่องเข้ามา ชั้นสามเป็นส่วนที่คุณดรุณพรและภรรยาใช้อยู่อาศัย ประกอบด้วยห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ มีห้องนอน ห้องแต่งตัว ห้องน้ำ ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น ห้องนอนแขก และมุมเล่นดนตรีเล็ก ๆ อยู่ในชั้นนี้
จุดเด่นของบ้านนอกจากรูปแบบและวิธีการก่อสร้างที่ใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักแทนเสาแบบโครงสร้างบ้านทั่วไปแล้ว ยังคำนึงถึงการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงานด้วย เพราะคอนกรีตที่หนาถึง 30 เซนติเมตรนี้สามารถช่วยกันความร้อนภายนอกได้รอบทิศทาง จึงไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวัน นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีฝ้าเพดานมีความสูงโปร่ง ช่องแสงก็ติดฟิล์มสะท้อนความร้อน และบุฉนวนกันความร้อนอย่างหนาที่หลังคาด้วย เนื่องจากหลังคาคอนกรีตแบบแฟลตสแลปนี้มักสะสมความร้อนมากกว่าหลังคาจั่วทรงสูงที่มีการระบายความร้อนได้ ทั้งหมดนี้ทำให้บ้านที่ดูทันสมัยหลังนี้อยู่แล้วสบายไม่ต่างจากบ้านไทยสมัยก่อน คุณภาคภูมิบอกกับเราว่า
“ผมพยายามออกแบบและวางแปลนห้องแต่ละส่วนตามหลักของบ้านไทย คือมีช่องระบายอากาศให้สามารถไหลเวียนถ่ายเทได้ดี ปิดบังป้องกันแสงแดดตามทิศการโคจรของดวงตะวัน ผมว่าอากาศบ้านเราทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจเมื่อคิดจะสร้างบ้านให้อยู่สบายไม่ว่าสุดท้ายบ้านจะมีหน้าตาแบบไหนก็ตาม”
“ ระหว่างก่อสร้างผมต้องเข้ามาควบคุมบ่อยมาก ไม่ใช่เพราะช่างไม่ดีแต่ว่างานคอนกรีตหล่อในที่ต้องมีการผูกเหล็กโครงสร้างเยอะกว่าปกติ การฉาบทำผิวก็ยังไม่ได้ตามที่เราพอใจ ระบบก่อสร้างแบบนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของช่างในบ้านเรา สุดท้ายต้องมีการฉาบแต่งผิวอีกรอบจึงจะได้ผนังที่มีสีปูนแบบที่เราตั้งใจไว้”
ในห้องที่เห็นผิวผนังปูนดิบ ๆ นั้น มีการซ่อนงานระบบท่อที่ต้องคิดเรื่องตำแหน่งการใช้งานให้แม่นยำตั้งแต่แรก เพราะเมื่อหล่อคอนกรีตแล้วการปรับย้ายตำแหน่งท่อจะทำได้ยาก แต่ถ้าวางแผนไว้ตั้งแต่แรกผลลัพธ์ที่ได้คือบ้านดูเรียบร้อย มีตำแหน่งของปลั๊กและสวิตช์ครบและเพียงพอกับการใช้งาน ที่สำคัญไม่มีท่อไฟเดินลอยให้กวนสายตาผนังจึงบ้านดูเรียบโล่ง
นอกจากนี้ยังได้นำไม้จากบ้านเก่ามาปรับใช้กับบ้านในหลายส่วนได้อย่างน่าสนใจ เช่น ระแนงกันแดด ช่องแสงบริเวณทางเดิน แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ในบ้านอย่าง ชั้นวางทีวี หรือโต๊ะข้างก็ล้วนทำจากไม้เดิมจากบ้านเก่า ถือเป็นความใส่ใจรายละเอียดของนักออกแบบที่พยายามจะเก็บความทรงจำและใช้วัสดุเดิมของบ้านมาปรับเปลี่ยนหน้าตาให้เข้ากับบ้านหลังใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
“คุณดรุณพรให้ความสำคัญกับเรื่องการประหยัดพลังงาน และการใช้วัสดุแบบนำกลับมาใช้ใหม่ เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นในบ้านได้รับการออกแบบขึ้นมาใหม่จากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ช่วยให้บ้านมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวเพราะมีของไม่ซ้ำใคร” คุณภาคภูมิ หัศบำเรอ กล่าวเสริม
ภายใต้การออกแบบคุณดรุณพรมองว่าบ้านหลังนี้ได้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของตนได้อย่างลงตัว เพราะมีที่พักของคุณแม่ในบ้านจึงสามารถดูแลและใช้เวลาด้วยกันได้ง่าย มีพื้นที่สำหรับตนเองและภรรยา ทั้งยังมีส่วนทำงานอดิเรกใช้เก็บของสะสมรถยนต์โบราณ และโมเดลรถยนต์ต่าง ๆ ที่ตนเองรัก รูปแบบบ้านก็มีความทันสมัยเรียบง่ายอยู่สบายคำนึงถึงการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการวางแผนและใส่ใจของเจ้าของบ้านและนักออกแบบ เพราะบ้านหนึ่งหลังนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดและบ่งบอกความเป็นคุณ หากอยากมีบ้านที่ถูกใจ การวางแผนและเข้าใจความต้องการของตนเองจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ลงไปขณะสร้างบ้าน