สวนญี่ปุ่น จะวาง ตำแหน่งจุดเด่นของสวน(Highlight) ไว้ในที่ซึ่งคนในบ้านสามารถมองเห็นได้ ตามคติการจัดสวนแต่โบราณ คือเอาคนในบ้านเป็นหลัก จัดสวนเพื่อดูเอง ดังนั้นมุมมองของสวนญี่ปุ่นจึงเป็นการมองจากภายในสู่ภายนอก ผิดกับสวนของชาวตะวันตกซึ่งมีลักษณะตรงกันข้าม คือ จะปลูกต้นไม้ชิดอาคารเพื่อให้อาคารดูดี ดูเด่น และดูสวย โดยไม่คำนึงถึงมุมมองจากในบ้าน แต่คำนึงถึงมุมมองของผู้คนที่อยู่นอกอาคารจะได้ชื่นชมและทำให้เจ้าของบ้านภาคภูมิใจ คือจัดโชว์ชาวบ้าน หลักการทั้งสองนี้แตกต่างกันแบบตรงกันข้าม ฉะนั้นการจัดก็ย่อมต่างกันอย่างมาก





สวนญี่ปุ่น คำนึงถึงความงามของเนื้อแท้ของวัสดุตามธรรมชาติ ยกให้ธรรมชาติเป็นใหญ่ ดังนั้นการใช้หิน อิฐ หรือวัสดุต่างๆ จึงเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่มีการเคลือบ ฉาบ หรือประดิษฐ์ ไม่มีการใช้รูปปั้น รูปหล่อ ที่เหมือนของจริง (realistic) มาประดับสวน ไม่ใช้พรรณไม้ประเภทใบใหญ่มาก เช่น ปาล์มพัด หรือตาลมาประดับสวน แต่ในสวนแบบ Modern Japanese Garden อาจใช้ปาล์มพันธุ์เล็ก เช่น ปาล์มไผ่ ปาล์มสิบสองปันนา และ จั๋ง ได้บ้าง



เห็นหลักเกณฑ์ต่างๆแล้ว ถึงแม้จะมากพอสมควร แต่การจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ยากเกินไป เพราะเมื่อเราได้ศึกษาและเข้าใจหลักการจัดแล้ว เราก็ใช้สมองของเรา บวกกับใจ ใส่ความประณีต ละเอียดอ่อน และความอดทน เข้าไป ให้เวลาอีกนิดหน่อยเป็นตัวช่วยให้เกิดความงาม การสร้างสรรค์งานด้วยองค์ประกอบของศิลปะ และพันธุ์ไม้ที่จะประยุกต์ใช้ ผสมผสานกันไปจนทุกอย่างลงตัว



การจัดวางองค์ประกอบนั้น เราควรวางผังอย่างคร่าวๆก่อน ว่าจะมีองค์ประกอบหลักอะไรบ้างแล้วจัดหา แต่ละอย่างให้ได้ ใกล้เคียงกับที่จินตนาการไว้ เมื่อได้ครบแล้ว จึงนำมาจัดเรียงตามผังที่ร่างไว้ก่อน เพื่อดูความสมดุล ในมุมต่างๆที่ต้องการ ถ้ายังไม่สวย เราก็สามารถขยับสับเปลี่ยน หรือโยกย้าย องค์ประกอบที่คิดไว้แต่แรกได้ เพราะของที่หาได้อาจจะไม่ได้ตรงตามที่คิด จะใหญ่เล็กไปบ้างก็มีส่วนให้ความสมดุลต่างกันไป ขยับจนได้ที่เมื่อไหร่ ค่อยจัดองค์ประกอบย่อยเสริมเข้าไป จะทำให้ได้สวนที่ลงตัวง่ายขึ้น



องค์ประกอบของสวนญี่ปุ่น

องค์ประกอบของสวนญี่ปุ่น มีหลายองค์ประกอบมากมาย แต่เราไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทั้งหมด หรือทำตามแบบอย่างของเขา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แค่ดัดแปลงมาใช้ โดยนำลักษณะเด่นของเขาออกมา ก็คงเพียงพอ องค์ประกอบต่างๆประกอบด้วย





พันธ์ไม้และต้นไม้
พันธ์ไม้ที่นิยมปลูกประดับในสวนน้ำชา หรือสวนภูเขา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น
ไม้ยืนต้น : ชนิดที่มีกิ่งก้านและใบหนาทึบ เช่น พีช เมเปิล โอ๊ค จะหายากสักหน่อย ส่วนชนิดที่มีกิ่งก้านและใบโปร่ง เช่น สนญี่ปุ่น หลิว ไผ่ อย่างนี้บ้านเราก็ต้องเลือกเอาที่มีขายในท้องตลาดเช่น ไผ่ หลิว
ไม้พุ่ม : นิยมตัดแต่งเป็นพุ่มกลม หรือรูปไข่เพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน เช่น อาซาเลีย ชาดัด หรือพวกข่อย ก็น่าจะมาประยุกต์ใช้ได้
ไม้ดัด : ประเภทบอนไชหรือไม้แคระซึ่งดัดหรือตัดแต่งให้มีลีลาเหมือนไม้ต้นใหญ่แต่ย่อส่วนให้เล็กลง พวกไทร ไกร ชาดัด ของเราจะหาได้ง่าย
ไม้น้ำ : มีทั้งปลูกกลางสระน้ำ และบริเวณ ริมตลิ่ง เช่น บัง กก ไอริส
พืชคลุ่มดิน : คือพื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1 ฟุต ปลูกไว้บริเวณใกล้ก้อนหินหรือตอไม้ เพื่อให้เหมือน หรือใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเพื่อเชื่อมต่อกับสวนหย่อมที่อยู่ข้างเคียง เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่างๆ ก็หาได้ไม่ยาก จะมีไม้ดัดแคระหรือบอนไซ ปลูกไว้ ให้กิ่งก้านและใบบังตะเกียงหินไว้บ้างบางส่วน ก็ได้



การใช้น้ำเป็นส่วนประกอบในสวนญี่ปุ่น
น้ำ เป็นต้นกำเนิดของชีวิต เป็นสิ่งที่ชโลมใจให้เยือกเย็นและมีความสุข กระแสน้ำมีอำนาจที่จะไหลพังทลายสิ่งที่กีดขวางได้ กระแสน้ำไหลทำให้เกิดเสียง เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวา สวนญี่ปุ่นจึงนิยมใช้น้ำเป็นสิ่งประกอบที่สำคัญ การใช้น้ำในสวนญี่ปุ่นก็เพื่อสมมุติว่าเป็น ลำธาร สระน้ำ ทะเล มหาสมุทร ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การจัดน้ำไว้ภายในบริเวณสวนอย่างน้อยที่สุดก็มีน้ำในอ่างน้ำ ที่วางไว้ในสวนแบบสวนที่ราบแบบเขียวชอุ่ม



น้ำตก : เป็นจุดเด่นสำคัญของสวนภูเขา น้ำตก เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งในการจัดสวนญี่ปุ่น การปลูกต้นไม้บริเวณน้ำตก ไม่ควรปลูกให้หนาทึบมากเกินไป ควรให้มีแสงสว่างลอดลงไปได้บ้าง เพื่อให้เห็นความงามของก้อนหิน และเห็นแสงเมื่อสะท้อนกับน้ำตกในบางจุด
ลำธาร : เป็นการจำลองลักษณะของทางน้ำตื้นๆ ที่ไหลผ่านหุบเขาคดเคี้ยวไปมา ลงสู่พื้นที่ ที่มีระดับต่ำกว่า เหมือนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ริมตลิ่งและในลำธารจะมีก้อนหินขนาดใหญ่และเล็กฝังไว้เป็นระยะๆ อย่างกลมกลืน เมื่อน้ำไหลผ่านก็จะปะทะกับก้อนหิน ทำให้เกิดละอองน้ำกระเซ็นเป็นฝอย และอาจมีเสียงดังซู่ซ่าสร้างบรรยากาศให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
สระน้ำ : ลักษณะรูปร่างเป็นแบบธรรมชาติ จะไม่นิยมรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม หรือเรขาคณิต เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์เลย ขอบสระหรือริมตลิ่งจะฝังก้อนหินใหญ่น้อยไว้เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันตลิ่งพังและเป็นการประดับด้วย การฝังก้อนหินริมตลิ่งนับว่าเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่ง สระน้ำไม่ควรลึกนัก ถ้าขุดลึกเกินไปนอกจากจะทำให้ตลิ่งพังได้แล้ว ยังทำให้ไม่สามารถมองเห็น ก้อนหินก้อนกรวด ที่ก้นสระ น้ำในสระควรใสสะอาด ไม่มีกลิ่นและไม่กระด้าง การไหลของน้ำ ลงสู่สระน้ำอาจไหลตามลำธารซึ่งมีแหล่งน้ำตกเหมือนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ไหลจากท่อน้ำหรือก๊อกน้ำ การวางท่อส่งน้ำและท่อน้ำล้นควรซ่อนปลายท่อน้ำไว้ใต้ซอกหิน
น้ำพุ : น้ำพุในสวนญี่ปุ่นเป็นน้ำพุที่ไหลรินๆ เหมือนบ่อน้ำร้อน พุ่งขึ้นเหนือผิวดินเหมือนท่อน้ำรั่ว บางแห่งไหลออกจากซอกหิน โดยซ่อนท่อน้ำไว้ใต้ก้อนหิน ไม่นิยมน้ำพุที่พุ่งขึ้นสูงๆ อย่างสวนแบบประดิษฐ์ โดยทั่วไปมักจะจัดน้ำพุไว้ที่บริเวณใกล้เชิงเขาหรือใกล้ทางเดิน
บ่อน้ำ : ในการจัดสวนญี่ปุ่นอาจจัดให้มีบ่อน้ำอยู่ในบริเวณสวนด้วย รูปร่างของบ่อน้ำจะเป็นรูปเหลี่ยมหรือรูปกลมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตาม ธรรมชาติเหมือนสระน้ำ โดยมีมือหมุนเพื่อกว้านถังน้ำขึ้นมาจากบ่อ แต่ในปัจจุบันมีไว้เพื่อประดับสวน มากกว่าการใช้ประโยชน์ เป็นบ่อหลอกๆ



สวนแบบนี้บางแห่งอาจมีน้ำไหลหรือหยดน้ำจากท่อไม้ไผ่ลงอ่างน้ำตลอดเวลา เพื่อสร้างความเคลื่อนไหว หรือเสียงกระทบของไม้ไผ่ จะมีน้ำล้นบริเวณพื้นข้างอ่างน้ำบ้าง จึงต้องโรยกรวดเอาไว้ เพื่อให้บริเวณนั้นแลดูสะอาดตา และสมมุติว่าเป็น "ทะเลหรือมหาสมุทร"



การเลี้ยงปลาในสระน้ำ ควรเลือกปลาที่กินพืชเป็นอาหาร เพื่อจะได้ช่วยกินตะไคร่น้ำ เช่น ปลาไน หรือ ปลาแฟนซีคาร์พ ซึ่งเป็นปลาที่เชื่องและมีสีสันสดใส หลายสี สะดุดตา ข้อควรระวังในการเลี้ยงปลาก็คือ อย่าให้อาหารมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเน่าได้ แต่ถ้าไม่เลี้ยงปลาก็ควรปลูกพืชน้ำเช่น บัว สันตะวาใบพาย เตย หรือใบข้าว ซึ่งสามารถเลี้ยงขึ้นอยู่ใต้น้ำ (ต้นและใบคล้ายต้นผักกาดสีน้ำตาล) เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียได้เป็นอย่างดี



ส่วนประกอบอื่นๆ
ตะเกียงหิน : สำหรับใช้ประดับในตอนกลางวันและให้มีแสงสว่างในตอนกลางคืน
อ่างน้ำ : สำหรับใช้เพื่อล้างมือล้างหน้าหรือบ้วนปากก่อนเข้าพิธี (มีกระบวยไม้ไผ่ด้ามยาวสำหรับตักน้ำวางพาดไว้ที่ปากอ่าง)
หินก้อนใหญ่ : สำหรับใช้จับยึด หรือสิ่งของระหว่างล้างมือ ล้างหน้า หรือบ้วนปากและสมมุติว่าเป็น "เกาะ"
แผ่นทางเดิน : วางคดเคี้ยวไปมา ให้ห่างกันพอดีกับระยะก้าวเพื่อใช้เป็นแนวทางเดิน นำไปสู่อ่างน้ำ เรือนน้ำชา และชมความงามของสวน
รั้วไม้โปร่ง : เป็นรั้วไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ประกอบอย่างง่ายๆ ใช้เป็นฉากหลังเพื่อประดับหรือแบ่งขอบเขตของสวน



หิน : หินสำหรับประดับภายในสวน จะคัดเลือกรูปทรงและสีเป็นพิเศษ ไม่นิยมหินที่มีรอยสกัด ที่ผิดไปจากธรรมชาติ ชนิดของหินได้แก่ หินทราย หินแกรนิต หินชนวน หินคลอไรด์ ฯลฯ นอกจากหินก็มีก้อนกรวดขนาดต่าง ๆกัน ใส่ไว้ในบริเวณ น้ำตก ลำธาร และสระน้ำ นิยมใช้ก้อนหินที่มีสีเข้ม เช่น สีเทา หรือสีดำ ทำให้รู้สึกว่ามืดๆ ทึมๆ เข้ากับสีเขียวของพุ่มไม้เป็นอย่างดี ถ้าไม่จำเป็นพยายามอย่าใช้ก้อนหินที่มีสีขาว เพราะจะขาวโพลงสว่างมากเกินไป ก้อนหินใหญ่ต้องไม่มีร่องรอยตบแต่ง อาจมีรูปร่างแหว่งเว้าหรือเป็นรูไปบ้าง แต่ควรเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมิใช่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การวางก้อนหินในสวนไม่นิยมวางเป็นก้อนโดดๆ อย่างน้อยจะต้องมีก้อนหินก้อนอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าวางไว้ข้างๆ เป็นส่วนประกอบ หรือเป็นแนวสามเหลี่ยม เป็นกลุ่มๆ ระยะห่างระหว่างก้อนขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนหิน ถ้าก้อนหินใหญ่มากก็อาจวางห่างกันหน่อย ก้อนหินที่จัดวางไว้ในกลุ่มเดียวกันทุกก้อนควรมีลักษณะผิวและสีเหมือนกัน แต่ละก้อนควรมีขนาดแตกต่างกัน เข่นใหญ่บ้าง สูงบ้าง เตี้ยบ้าง โดยทั่วไปในกลุ่มหนึ่งๆ จะมีก้อนหินเป็นเลขคี่ เช่น 3 , 5 , 7 ฯลฯ โดยจัดเป็นรูปสามเหลี่ยมดังกล่าวแล้วในตอนต้น แต่ก็มีบางครั้งที่วางก้อนหินเพียง 2 ก้อน แล้วปลูกต้นไม้อีก 1 ต้น ก็จะทำให้มองดูแล้วเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมได้เหมือนกัน ไม่ได้เป็นกฎตายตัว แต่ขอให้เกิดสมดุลได้ในภาพรวม



องค์ประกอบของสวนญี่ปุ่นทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็น สระน้ำ ไม้ประดับ กรวดหินทราย น้ำตก ต้นไม้ สะพาน มักจะสร้างอย่างมีความหมาย หรือเป็นสัญลักษณ์ ทั้งสิ้น แต่การจำลองธรรมชาติมานั้นไม่ได้หมายความว่า สวนญี่ปุ่นจะเป็นสวนจำลอง หรือย่อส่วน แต่การใช้องค์ประกอบเล็กๆที่เลียนแบบธรรมชาตินั้น เป็นการใช้องค์ประกอบต่างๆตามขนาดของสวนให้เหมาะสม ได้สมดุลในทางองค์ประกอบและสมดุลของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

แต่ถึงแม้สวนญี่ปุ่นจะดูเหมือนมีหลักเกณฑ์มากมาย และรูปแบบที่ชัดเจน แต่ผู้ออกแบบตกแต่งสวนญี่ปุ่น ก็มีอิสระทางความคิด ที่จะสร้างสรรค์ผลงานของเขาเสมอ ข้อสำคัญ ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองว่า "เราทำได้"