เจ้าของบ้าน นพ.สงวน คุณาพรและครอบครัว ออกแบบบ้านโดย บ.ต้นศิลป์ สตูดิโอ จำกัด ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโดย บ.บลูแพลเน็ท ดีไซน์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพโดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ |
บ.ต้นศิลป์ สตูดิโอ จำกัดและบ.บลูแพลเน็ท ดีไซน์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัดได้รับมอบหมายให้มารับภารกิจนี้ บนที่ดินซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นทัศนียภาพของฝั่งทะเลระยะไกล ดูสวยงาม ด้านหลังพิงกับภูเขา คามคิดแรกชองคุณชาตรี ลดาลลิตสกุลผู้เป็นสถาปนิกก็คือ “ต้องการให้บ้านมีลักษณะเป็นประติมากรรมที่งดงาม” “ประติมากรรม” ชิ้นนี้เมื่อมองจากถนนด้านล่างขึ้นไปจะเห็นภูเขาสีเขียวเป็นฉากหลัง เมื่อเข้าถึงพื้นที่ภายในจะให้ความรู้สึกสงบนิ่ง โดยวางองค์ประกอบให้รับประโยชน์สูงสุดจากวิวที่เปิดแบบ 180 องศารอบตัว การออกแบบเป็นการแชร์ความคิดกันของเจ้าของบ้าน (ร่มเย็นอยู่สบาย) และสถาปนิก (ร่มเย็นและมั่นคงในวิธีคิด อยู่ได้เป็น 100 ปี) นพ.สงวนบอกว่า “อยากให้บ้านต้อนรับเพื่อนคนไทยและต่างชาติด้วยความรู้สึกของสเปซที่ผ่อนคลาย แต่แฝงนัยยะทางปรัชญาที่ลุ่มลึก, สงบ, เรียบง่าย, เป็นธรรมชาติตามคติแบบพุทธและชาวตะวันออกซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเป้าหมายสูงสุดของรูปแบบชีวิตเชิงอุดมคติของผมและภรรยา” |
ในการพิจารณาร่วมกัน ผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านวางองค์ประกอบ, แสงเงาและสัมผัสของวัสดุที่เป็นเนื้อแท้ทั้งหมดให้เป็นตัวแสดงซึ่งทำหน้าที่หลักแทนการตกแต่งซึ่งตั้งใจถอดออกจนหมด โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหัวใจของงานคือโถง Open Court Pavilion และระเบียงแสงจันทร์ บ้านหลังนี้โดดเด่นด้วยผนังเปลือยจนเหมือนหนึ่งว่า “สถาปัตยกรรม” แห่งนี้รับรู้สัมผัสเมื่อสายลมพัดใบไม้กรูเกรียวในหน้าแล้ง รวมทั้งเมื่อแสงจันทร์สาดสัมผัสระเบียงไม้สีเทาในคืนที่จันทร์กระจ่างด้วย สถาปนิกบอกเจ้าของบ้านด้วยรอยยิ้มว่า “การออกแบบนไม่มีสิ่งใดทำเพื่อหมอเลย แต่สัญญาว่าหมอจะเป็นผู้โชคดีที่ได้อยู่บ้านหลังนี้” เมื่อเห็นภาพสเก็ตช์ขาวดำแรกของแบบ เจ้าของบ้านถามสถาปนิกว่า “ผมจะมีชีวิตแบบไหนในพื้นที่นั้น” คำตอบถูกถ่ายทอดเป็นเพลง "ชายคนนั้น" ของน้าหงา 1 ท่อนและคำพูด “หมอจะได้โอกาสเผชิญหน้ากับตัวเองในวันเงียบสงบและแสงแดดบ่ายส่องแสง ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติภายนอก" |
ทั้งคู่ยังปรึกษากันอีกว่าห้องนั้นจะดูทีวีได้ไหม? จะวางชั้นหนังสือหรือไม่? สถาปนิกให้ความเห็นว่า “ไม่ควร” แต่ก็คิดเผื่อว่าเจ้าของบ้านต้องตัดสินใจเองในวันข้างหน้าว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในที่นั้น โดยเบื้องต้นเขามิได้เตรียมสิ่งใดไว้เลยทั้งระบบปรับอากาศ, เต้ารับทีวีหรือชั้นวางหนังสือ งานด้านภูมิสถาปนิกก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้เชี่ยวชาญอีกเช่นเคย เขาถามถึงงานอดิเรกต่าง ๆ ของคุณหมอ คุยกันแบบข้ามวัน ก่อนจะสรุปว่า “หมอเป็นคนแปลกเหมือนแบทแมน” จึงคิดทำถ้ำค้างคาวให้ ซึ่งเจ้าของบ้านก็ชอบใจเรื่องโลก-ลับนี้ไม่น้อย ก่อสร้างกันหลายแบบหลายปี สุดท้ายกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมไป สิ่งที่ยากเย็นที่สุดคือ “งานกำแพงหินถั่วตัด” และ “การสกัดหินธรรมชาติใต้สระว่ายน้ำ” ทีมช่างก่อสร้างเปรยออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า "ช่างสาหัสนัก" จนภรรยาของคุณหมอสงสารคนสร้าง ต้องเรียกสถาปนิกมาจากกรุงเทพเพื่อเจรจาขอแก้แบบเพื่อลดการสกัดหิน คุณหมอก็มาช่วยพูดด้วย ทีมงานรับฟังนิ่งอยู่หน้า "ถั่วตัดที่ล้มเหลว" |
แม้จะเสียดายแค่ไหน ลงท้ายก็ตัดสินใจยอมยกธงขาว...แต่เหล่าช่างก่อสร้างไม่ยอม พวกเขาบอกว่า “ไม่เต็มร้อยไม่มียอม” และยืนยันว่าสถาปนิกไม่มีสิทธิ์ล้มเลิกความตั้งใจ...เพราะบัดนี้มันมิได้เป็นของท่านแต่เพียงผู้เดียวอีกแล้ว ทีมช่างก่อสร้างพร้อมที่จะยกหินยักษ์ด้วยรอกตัวเล็กอย่างทรหดต่อไป...ทำเอานักออกแบบน้ำตาซึม บทสรุปของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ก็คือเมื่อตั้งใจจริง อยากให้ดี ต้องอาศัยความตั้งใจอย่างสูงของทั้งผู้ออกแบบ, เจ้าของ และผู้ก่อสร้างต้องใช้ใจอดทนฝ่าฟันอุปสรรค งานชิ้นนี้เป็นงานที่สร้างยากอย่างสาหัสเพราะเป็นผิวเปลือยทุกเนื้อวัสดุ ไม่มีงานฉาบสีเลย วิธีการก่อสร้างจึงต้องมั่นคงและแม่นยำทุกเวลา แต่สิ่งที่โชคดีที่สุดก็คือลูกค้าแบบคุณหมอสงวนและครอบครัวนั่นเอง พวกเขาไม่เคยคิดว่าการสร้างบ้านหลังนี้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของพวกเขาเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจึงทรงคุณค่าและกลายเป็นสถาปัตยกรรม “รางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย” จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ |