|
*ฤดูหนาว (พฤศจิกายน-มกราคม)
ช่วงนี้เหมาะกับการซ่อมแซมบ้านที่สุด เพราะฝนหยุดตกแล้วและสภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบาย แต่จะลงมือซ่อมอะไรก่อนหลังนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการเดินสำรวจให้ทั่วบริเวณทั้งภายในและภายนอกบ้านว่ามีจุดใดที่เสียหายจากฟ้าฝนบ้าง เช่น มีน้ำรั่วซึมที่ฝ้าเพดาน สีทาผนังโปร่งพอง จะได้แก้ไขได้ตรงจุด
1. เดินสำรวจบ้าน
ช่วงก่อนปีใหม่ควรเดินดูทั้งภายในและภายนอกบ้าน
คำแนะนำ: เมื่อตรวจพบจุดที่เสียหายควรจดบันทึกไว้เพื่อวางแผนซ่อมแซมตามลำดับความสำคัญ
2. ดาดฟ้า ค.ส.ล. รั่วซึม
หลังคาแบนมีน้ำขังนาน พื้นผิวปูนอาจมีการแตกร้าว หรือท่อน้ำทิ้งอุดตัน สังเกตได้จากฝ้าเพดานด้านใน
คำแนะนำ: ถ้าพื้นมีความลาดเอียงน้อย หรือเป็นแอ่งให้เทปูนปรับระดับพื้นผิวใหม่ ใช้ซิลิโคนอุดซ่อมรอยแตกร้าวแล้วเคลือบทับด้วยวัสดุกันซึม
หมายเหตุ: ควรรอดูผลการซ่อมแซมก่อนติดตั้งฝ้าเพดานด้านใน
3. หลังคากระเบื้องรั่วซึม
อาจเกิดจากแผ่นกระเบื้องหรือครอบสันหลังคาแตกร้าว หรือระยะซ้อนทับกระเบื้องน้อย เมื่อลมพัดน้ำฝนก็อาจย้อนเข้าใต้หลังคาได้
คำแนะนำ: หาจุดรั่วซึมที่แน่นอน แล้วทาอะคริลิกกันซึม หรือเปลี่ยนเฉพาะแผ่นหลังคาที่ชำรุด
4. ฝ้าเพดานเป็นรอยด่างดวง
เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากการรั่วซึมของหลังคา
คำแนะนำ:
- กรณีฝ้าเป็นแบบฉาบเรียบให้เจาะส่วนที่เป็นเชื้อราหรือบวมออกแล้วตัดแผ่นยิปซัมชิ้นใหม่มาใส่แทน
- หากฝ้าเป็นแบบทีบาร์ให้รื้อฝ้าในส่วนที่ชำรุดออกแล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่
หมายเหตุ: รอยคราบที่ปรากฏอาจไม่ใช่จุดที่น้ำรั่วจริง เพราะบางครั้งน้ำจะไหลจากจุดที่รั่วเข้ามาแล้วไปนองอยู่ ดังนั้นจึงต้องหาจุดรั่วซึมที่แน่นอนแล้วซ่อมตามสาเหตุที่พบ
5. น้ำซึมผ่านผนังรอบๆช่องเปิด
- มีการยืดหดตัวของประตูหน้าต่าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างโครงสร้าง
- ร่องยาแนวบล็อกแก้วเสื่อมภาพ
คำแนะนำ: ใช้ซิลิโคนหรือพอลิยูรีเทนมาอุดรอยต่อ ส่วนร่องยาแนวบล็อกแก้วที่เสื่อมสภาพให้ขูดออกมาแล้วยาแนวใหม่ หรือทำกันสาดเหนือวงกบและเซาะร่องทำบัวหยดน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้ามา
6. ผนังฉาบปูนแตกร้าว/หลุดล่อน
ผิวปูนฉาบแตกลายงาเป็นเพราะการฉาบที่ไม่ดีพอ ส่วนผิวปูนฉาบหลุดล่อนเป็นเพราะเนื้อปูนเสื่อมภาพ
คำแนะนำ:
- วิธีแก้ปัญหาผิวปูนแตกลายงาให้ใช้กระดาษทรายขัดแต่งผิวแล้วใช้อะคริลิกมาอุดโป๊ จากนั้นทาสีที่มีความยืดยุ่นสูงทับหน้าเพื่อช่วยปกปิดการแตกลายงา
- วิธีแก้ปัญหาผิวปูนฉาบหลุดล่อนใช้เกรียงแซะผิวปูนที่หลุดล่อนออกมาแล้วผสมปูนฉาบสำเร็จรูปกับน้ำยากันซึม จากนั้นฉาบแต่งให้เข้ากับผนังเดิม
หมายเหตุ: รอยแตกร้าวที่เกิดในบ้านซึ่งเป็นอันตรายและส่งสัญญานบอกเหตุให้รีบแก้ไขก็คือ รอยร้าวที่มีความกว้างเกิน 0.5 มิลลิเมตร ผนังบ้านมีรอยร้าวในแนวเฉียงทำมุม 45 องศากับพื้น รวมถึงเสา คาน พื้น ที่แตกร้าวจนมองเห็นหล็กภายใน ควรเรียกวิศวกรมาตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัย
7. พื้นคอนกรีต/พื้นโรงรถทรุดและแตกร้าว
โดยมากแล้วเกิดจากดินทรุดตัวโดยธรรมชาติ
คำแนะนำ: ควรทุบพื้นเดิมออกแล้วทำฐานใหม่ เช่น ถมดินหรือทรายแล้วบดอัดให้แน่น จากนั้นเทพื้นค.ส.ล.ใหม่ หรือเสริมการรับน้ำหนักด้วยการลงเสาเข็ม 1 ต้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
หมายเหตุ: ควรทำเมื่อพื้นมีความเสียหายมากพอสมควร จะได้รื้อทำใหม่ในคราวเดียวกัน
8. ล้างแอร์ปีละครั้ง
ไม่ต้องรอถึงหน้าร้อนก็ล้างแอร์ได้
คำแนะนำ: เรียกช่างมาล้างทำความสะอาดแอร์ทั้งระบบอย่างน้อยปีละครั้ง
หมายเหตุ: นอกจากช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย
9. ท่อน้ำประปารั่ว
ให้สังเกตพื้นดินโดยรอบถ้ามีท่อแตกหรือรั่วซึม พื้นดินหรือสนามบริเวณนั้นจะเปียกชื้นและทรุดต่ำกว่าที่อื่น
คำแนะนำ: ปิดก๊อกน้ำทุกจุดแล้วดูมาตรวัดน้ำว่าตัวเลขมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีท่อน้ำรั่ว ให้รีบแก้ไข
10. สายไฟเปื่อย/ฉีกขาด
- เปลี่ยนสายไฟทันทีเมื่อพบการชำรุด
- ควรตรวจระบบสายไฟฟ้าทั้งในและนอกบ้านปีละครั้งหรือเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดทุก 15-20 ปี
คำแนะนำ: เมื่อพบว่าสายไฟมีสีดำคล้ำ ฉนวนหุ้มสายแตกกรอบมีรอยปริจนเห็นสายทองแดงก็ต้องให้ช่างไฟฟ้ารีบเปลี่ยนใหม่ทันที
*ฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม)
ฤดูนี้เหมาะกับการทาสีบ้านเพราะมีแสงแดดและมีลมพัดเป็นระยะ สีจะแห้งไวและฟิล์มสีที่ได้ก็เรียบเนียน แต่ควรหลีกเลี่ยงงานติดตั้งหรือซ่อมบำรุงภายนอกบ้าน เช่น การปูหินกลางแจ้งเพราะความร้อนจากแสงแดดทำให้หินขยายตัว ส่งผลให้หินดันกันเองจนเกิดการหลุดล่อนหรือเสียหาย รวมถึงการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้เราไม่สบายได้
1. สีบ้านลอกล่อน
ฟิล์มสีโปร่งพองหรือลอกล่อนเป็นเพราะมีความชื้นสะสมในพื้นผิวเป็นเวลานาน
คำแนะนำ:
- การป้องกันผนังชื้น ให้ทำหลังคาหรือกันสาดยื่นยาวอย่างน้อย 1.20-1.50 เมตร เพื่อป้องกันน้ำฝนโดนผนังบ้านโดยตรง
- การแก้ไขให้ขูดสีเก่าทิ้งไปแล้วทาสีรองพื้นเพื่อป้องกันความชื้นอย่างน้อย 1 รอบและตามด้วยสีทับหน้า 2 รอบ
หมายเหตุ: หมดฤดูฝนแล้วก็จริง แต่อย่าพึ่งรีบร้อน ควรรอวันที่มีแดดจัดๆแล้วค่อยลงมือทาสีดีกว่า
2. พื้นไม้/ระเบียงไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้เสียหาย
ช่วงนี้สภาพอากาศค่อนข้างแจ่มใสเหมาะกับการทาสีหรือลงน้ำมันรักษาเนื้อไม้เพราะต้องใช้เวลาแห้งตัวนานหลายชั่วโมงกว่าจะทารอบถัดไปได้
คำแนะนำ: ใช้เครื่องขัดหรือกระดาษทรายขัดพื้นผิวเดิมที่เสียหายออก แล้วทาเคลือบผิวใหม่เพื่อปกป้องเนื้อไม้
หมายเหตุ: น้ำยาเคลือบไม้มีให้เลือกทั้งชนิดสีย้อมไม้ พอลิยูรีเทน ซึ่งใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน ส่วน Teak Oil เป็นน้ำมันที่คืนความชุ่มชื่นให้ไม้สักโดยเฉพาะ และเพื่อความสวยงามควรเคลือบผิวใหม่ทุก 3-5 ปี
3. รางน้ำฝนตัน
เศษใบไม้และกิ่งไม้แห้งที่หมักหมมอาจทำให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคาระบายไม่ทัน
คำแนะนำ: หมั่นตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเหนือหลังคาออกไป หรือหาตะแกรงมาปิดรางน้ำฝนเพื่อป้องกันเศษใบไม้สะสมในราง
หมายเหตุ: รีบทำก่อนฤดูฝนหนึ่งเดือน ก่อนที่พายุฝนลูกแรกจะมา
4. บ่อพัก/ท่อน้ำทิ้งตัน
เปิดฝาบ่อพักออกมาดูว่ามีเศษดิน เศษหิน หรือใบไม้ทับถมจนบ่อตื้นเขินหรือไม่
คำแนะนำ: ถ้าพบให้ขุดลอกขึ้นมาแล้วนำเศษวัสดุดังกล่าวไปทิ้ง
หมายเหตุ: ควรทำก่อนฝนจะมาเยือนหรืออย่างน้อยปีละครั้ง
5. น้ำขังรอบบ้าน
ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก
คำแนะนำ: เทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้ง เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือเทน้ำเดือดที่จานรองขาตู้กับข้าว
หมายเหตุ: เก็บและทำลายเศษวัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์ที่อยู่บริเวณรอบๆบ้านเพื่อไม่ให้ยุงลายมาวางไข่
6. อิฐโชว์แนวเป็นคราบ
คราบสกปรกจากทางน้ำฝนหรือมีเชื้อราและตะไคร่น้ำ
คำแนะนำ: ถ้าพบการชำรุดให้ซ่อมแซมทันทีและหากมีเชื้อราและตะไคร่น้ำให้ขูดลอกออกมาให้หมดแล้วทาน้ำยาป้องกันตะไคร่และน้ำซึมเข้าผนัง
7. ต้นไม้ใหญ่สร้างปัญหา
อย่าให้กิ่งไม้แผ่มาคลุมหลังคาหรือชนผนังบ้าน เพราะกิ่งไม้และใบไม้จะร่วงลงใส่หลังคา ทำให้กระเบื้องแตกร้าวหรือรางน้ำอุดตันได้
คำแนะนำ: หมั่นตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเหนือหลังคาออกไป และระวังต้นไม้ใหญ่ที่มีรากชอนไช จะทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย
หมายเหตุ: หากคิดจะปลูกไม้ใหญ่ใกล้บ้านควรศึกษาข้อมูลจากหนังสือต้นไม้เสียก่อน หรือปรึกษาผู้รู้ก็ได้
8. ฉนวนกันความร้อนเสื่อม
หมดอายุ หรือไม่เคยติดตั้งมาก่อน
คำแนะนำ: เปิดฝ้าเพดานดูว่าฉนวนใยแก้วกันความร้อนอยู่ในสภาพใด ถ้ายังอยู่ในสภาพดีจะไม่ยุบแบนติดฝ้า แต่ถ้าเสื่อมสภาพแล้วก็ต้องเปลี่ยนใหม่พร้อมกันทั้งหมด
หมายเหตุ: ฉนวนใยแก้วควรจะมีความหนาอย่างน้อย 3 นิ้ว
9. รั้วเหล็กเป็นสนิม
สนิมที่ผิวรีบขัดออก อย่าปล่อยให้ผุพังถึงเนื้อเหล็ก
คำแนะนำ: ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออก แล้วทาสีป้องกันสนิมหรือน้ำยาหยุดสนิม จากนั้นก็ทาสีทับได้ตามต้องการ
10. ถังบำบัดน้ำใต้ดินเสีย
- มีกลิ่น
- เต็มบ่อย
- ถังแตกร้าวหรือรั่วซึม
คำแนะนำ: เติมจุลินทรีย์ธรรมชาติลงในถังบำบัดทุกเดือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลาย แต่ถ้าถังแตกหรือรั่วก็ควรเปลี่ยนใหม่
หมายเหตุ: ควรสูบออกทุก10 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดของเสียเหมือนเป็นการ Reset
*ฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม)
ฝนนั้นเป็นอุปสรรคสำหรับการสร้างและซ่อมแซมบ้าน อย่างฤกษ์ปลูกบ้านของไทยนั้นจะห้ามปลูกบ้านเดือน 6 เพราะเป็นช่วงหน้าฝนซึ่งทำอะไรได้ไม่สะดวกนัก แต่ถ้าบ้านเกิดปัญหาก็คงรอไม่ได้ อาทิ การรั่วซึมตามขอบประตูหน้าต่าง หรือหลังคา ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป แล้วค่อยว่ากันใหม่ในช่วงที่หมดพายุฝนกระหน่ำ
1. กำจัดปลวก
ถ้าพบเห็นแมลงเม่าสลัดปีกทิ้งในบ้านให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า เรากำลังเจอกับกองทัพปลวกเข้าแล้ว
คำแนะนำ: เรียกบริษัทกำจัดปลวกมาตรวจเช็คสภาพบ้านทั้งภายในและภายนอก ระบบป้องกันและกำจัดปลวกมีให้เลือกใช้ทั้งแบบราด เจาะพื้นเพื่ออัดน้ำยา และการใช้เหยื่อล่อ
หมายเหตุ: ตรวจสอบบริเวณบ้านและโครงสร้างสำคัญๆอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งอัดน้ำยากันปลวกใหม่ทุก 3-5 ปี
2. นก หนูมาทำรัง
นกหรือหนูหนีฝนเข้ามาทำรังตามช่องโหว่ของฝ้าชายคาและลอนกระเบื้อง
คำแนะนำ: ปิดเชิงชายด้วยไม้ปิดลอนที่โค้งตามลอนกระเบื้องแล้วติดตั้งตาข่ายกันแมลงบนฝ้าชายคาที่เว้นร่องระบายอากาศ
มดยกทัพเข้าบ้าน
มดก็ยกครัวเข้าบ้านหนีน้ำท่วมเช่นกัน
คำแนะนำ: หาชอล์กไล่แมลงมาขีดรอบๆประตูหน้าต่าง เพื่อกันมดแมลงสาบเข้าบ้าน หรือปิดขอบกันแมลงที่บานประตูหน้าต่างก่อนฝนจะมา
3. บานประตู หน้าต่างบวม
ฝืดมีเสียงดังเวลาเปิด-ปิด เพราะความชื้น ทำให้ประตูไม้ผุหรือบวมพอง
คำแนะนำ: หยอดน้ำมันจักรที่บานพับเพื่อเพิ่มความลื่น แต่ถ้าบานเอียงหรือตกให้เปลี่ยนสกรูตัวใหม่ให้มีขนาดยาวกว่าเดิมแล้วเสริมด้วยกระดาษแข็งที่ด้านหลังเพื่อหนุนบานพับให้สูงขึ้น
หมายเหตุ: ถ้าพบว่าประตูไม้ผุจนเกิดช่องโหว่ ให้เปลี่ยนใหม่เลยดีกว่า
4. ท่อระบายน้ำทิ้งในบ้านอุดตัน
คำแนะนำ: ทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ถ้วยยางอัดลม งูเหล็ก รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดสิ่งอุดตัน
หมายเหตุ: สำหรับท่อน้ำทิ้งภายนอกบ้านถ้าเกิดการอุดตัน อาจแก้ได้ลำบาก แต่เราต้องหมั่นสังเกตการระบายน้ำให้ไหลลงท่อได้สะดวก
5. ร่องยาแนวกระเบื้องมีคราบสกปรกหรือมีเชื้อรา
คำแนะนำ: ขูดยาแนวเดิมทิ้งไปแล้วเปลี่ยนยาแนวใหม่เป็นชนิดป้องกันราดำหรือทนกรด
6. พื้นทางเดินภายนอกบ้านลื่นหรือมีตะไคร่
คำแนะนำ: ใช้น้ำยาสูตรฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำขัดล้าง เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
หมายเหตุ: สกัดผิวหน้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหยาบให้พื้นหรือเลือกใช้หินให้เหมาะกับงาน
7. บล็อกตัวหนอนทรุดตัว
คำแนะนำ: ทาน้ำยาประสานรอยต่อเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดทรายที่อุดร่องบล็อกเคลื่อน และช่วยป้องกันการทรุดตัว
8. ถังเก็บน้ำรั่ว
ตรวจดูรอยรั่วและระบบลูกลอยในถังเก็บน้ำ
คำแนะนำ: หากพบรอยรั่วซึมให้อุดด้วยอีพอกซีส่วนการเช็คระบบลูกลอยนั้นให้เปิดน้ำเข้าถังให้เต็ม ถ้าน้ำล้นถัง แสดงว่าลูกลอยเสื่อมสภาพแล้ว ให้เปลี่ยนใหม่ทั้งชุด
หมายเหตุ: การใช้ถังเก็บน้ำ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรฝังใต้ดินเพราะดูแลรักษายาก
9. ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็น
คำแนะนำ: ลองเปลี่ยนตะแกรงดักกลิ่นที่พื้นในห้องน้ำ โดยเลือกตะแกรงแบบที่มีน้ำขังในถ้วย หรือใส่ท่อดักกลิ่นในส่วนปลายของท่อน้ำทิ้งก็พอจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นในห้องน้ำที่รุนแรงได้
10. เครื่องทำน้ำอุ่น/ร้อนในบ้านมีปัญหา
น้ำที่ออกมาเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นมักมีเหตุมาจากแรงดันน้ำน้อยเกินไป
คำแนะนำ: แก้ไขด้วยการเพิ่มแรงดันปั๊มน้ำ และหากมีระบบกรองน้ำก่อนที่จะเข้าเครื่องก็จะช่วยลดการเกิดตะกรันในหม้อน้ำได้ในระดับหนึ่ง
หมายเหตุ: แต่การเพิ่มแรงดันของเครื่องปั๊มอาจทำให้ท่อน้ำเสียหายได้ตามรอยต่อ โดยเฉพาะสำหรับบ้านเก่าอาจต้องเรียกช่างมาตรวจสอบทั้งหลังด้วย
เมื่อคิดจะซ่อมบ้าน เราควรเดินสำรวจความเสียหายทั้งหมดของบ้าน แล้วจัดลำดับความสำคัญที่ต้องซ่อมก่อนหลัง หากงบประมาณจำกัด ให้เลือกซ่อมงานโครงสร้างก่อน เพราะเป็นเหมือนกระดูกของบ้าน หรือเลือกซ่อมในส่วนที่ทำให้เราเดือดร้อน เช่น หลังคารั่ว เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย