ห้องเก็บของก็เลขเกิดขึ้นใน ขณะที่พี่ไทยเราไม่นิยมระเบียบ ห้องเก็บของก็เลยผลุบ ๆ โผล่ ๆ พอเริ่มจะมีระเบียบกันหน่อย ก็มองหาห้องเก็บของกันให้วุ่น ของที่จะเก็บตามลักษณะคนไทยสามัญอย่างเราก็พอจะกล้อมแกล้มแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

1. ของสำรองใช้

2.  ของเก่า

3.  ของเฉพาะกิจ

  • ของสำรองใช้

ก็คือของใช้ประจำวันที่ต้องสำรองเอาไว้ทดแทนของที่หมดไป ในที่นี้ก็ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน ล้างห้องน้ำ ฯลฯ

 

  • ของเก่า

ก็คือของที่เหลือใช้ ไม่ใช้และรวมถึงสัมภาระต่าง ๆ ที่สะสมเอาไว้ เพื่อจะมีโอกาสใช้เพลาใดเพลาหนึ่งของพวกนี้ดูจะถูกโฉลกกับคนไทยดี เพราะมีนิสัยเสียดาย ไม่กล้าทิ้ง เช่น เสื้อผ้าเก่าที่หมดสมัยแล้วก็เก็บเอาไว้ เพราะยังไม่ขาดไม่เปื่อย กล่องกระดาษที่ใส่เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมไปถึงหนังสือต่าง ๆ เมื่อไม่กล้าทิ้งหรือไม่ยอมบริจาคก็เลยต้อง “สุม”เอาไว้ ห้องเก็บของก็เลยเป็นที่ต้องการอย่างเหลือล้น

 

  • ของเฉพาะกิจ

ก็คือเครื่องมือเครื่องใช้ ของใช้ในกรณีเฉพาะต่าง ๆ ที่ต้องใช้ตามโอกาสและวาระต่าง ๆ กัน และอาจใช้ไม่บ่อยนัก เช่น เครื่องมืองานช่าง เครื่องมือสนาม ของใช้เครื่องใช้และเครื่องมือเกี่ยวกับรถยนต์ จักรยานยนต์ เรือยนต์ เป็นต้น

ก็จะเห็นว่าทั้งสามประเภทดังกล่าว จะมีรูปลักษณะที่แตกต่างกัน การจัดหรือกำหนดห้องเก็บของเอาไว้เป็นบริเวณเล็ก ๆ อาจจะพอหรือไม่พอได้เท่า ๆ กัน และหากจะเก็บของตามประเภทที่แย้มพรายออกมานั้นก็คงจะทุลักทุเลเอาเรื่อง

การกำหนดห้องเก็บของในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในบ้านจัดสรรหรือบ้านที่ “บรรจง” ปลูกเอง ดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเลยต่อความสำคัญอยู่พอสมควร มีหลืบมีซอกที่ไหนก็ยิ้มแย้มระบุว่าเป็นห้องเก็บของเสียโดยพลัน ก็พอจะอนุโลมกันได้ คือดีกว่าไม่มี ฉะนั้นหากปีติที่จะมีแล้ว เราก็คงจะแยกแยะห้องเก็บของออกได้ตามชนิดของของที่จะเก็บดังที่กล่าวมาแล้ว เรากำหนดง่าย ๆ ว่าห้องเก็บของจะต้องมีลักษณะรูปร่างและเนื้อที่สอดคล้องกับสิ่งของนั้น ๆ การทำชั้น(หิ้ง) รอบห้องจะทำให้เก็บของขนาดต่าง ๆ ได้มาก และเหมาะกับห้องเก็บของทุกชนิด โดยเฉพาะห้องเก็บสัมภาระเหลือใช้ ที่เรียกว่าห้องเก็บของเก่านั่นแหละ

ขนาดของห้องเก็บของ

เท่าที่ปฏิบัติกันมาก็สรุปได้ว่าไม่มีมาตรฐานกำหนดเอาไว้ว่าห้องเก็บของจะ ต้องมีขนาดเนื้อที่เท่าใด นอกจากห้องอยู่อาศัยที่มีกำหนดเอาไว้ว่าต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร ดังนั้นห้องใดมีขนาดน้อยกว่านี้ก็จะระบุ ให้เป็นห้องเก็บของเสียหมด (ยกเว้นห้องน้ำซึ่งมีลักษณะการใช้เด่นชัดอยู่แล้ว) แต่จากประสบการณ์ก็พบว่า สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มักนิยมระบุขนาดห้องเก็บของในเกณฑ์ 2 ตารางเมตร นั้นเป็นขนาดขั้นต่ำ และไม่พอเพียงต่อการใช้สอย โดยเฉพาะถ้าไม่ทำหิ้งรอบห้อง การกำหนดขนาดห้องอย่างน้อย 4 ตารางเมตร (2×2 เมตร) ถึง 6 ตารางเมตร (2×3 เมตร) ดูจะเป็นขนาดห้องเก็บของทั่วไปที่สามารถใช้อ้างอิง (คือสามารถใช้สอยได้ ไม่อึดอัดนัก)

ตำแหน่งของห้องเก็บของ

ตามลักษณะการวางผังสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องใช้เกณฑ์การใช้สอย ความบ่อยครั้ง ความเป็นสัดส่วน หรือไม่เป็นสัดส่วน การเชื่อมต่อสัมพันธ์กับห้องหรือบริเวณใช้สอยอื่น ๆ  มาเป็นตัวกำหนดในการวางตำแหน่งห้อง ซึ่งเราจะเห็นว่าห้องเก็บของ มิใช่เพื่อการใช้สอย การกำหนดมุมหรือบริเวณที่เป็นสัดส่วน และอาจรวมถึง “มุมลับ” ใด ๆ ก็สามารถใช้เป็นตำแหน่งของห้องเก็บของได้ อาจจะมีข้อสรุปง่าย ๆ ว่าห้องเก็บของไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ประเจิดประเจ้อ ควรเป็นห้องที่อยู่ในตำแหน่งส่วนตัวหรืออยู่ส่วนใน ๆ ของตัวบ้าน

การสร้างห้องเก็บของ

ในกรณีที่ไม่ได้ออกแบบห้องเก็บของเอาไว้พร้อมกับการออกแบบบ้าน การกำหนดบริเวณและสร้างห้องเก็บของก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ

1.  ต่อเติมพร้อมไปกับการต่อเติมห้องอื่น ๆ

2.  กั้นห้องหรือบริเวณขึ้นมาใหม่

การที่ระบุว่าต่อเติมพร้อมไปกับการต่อเติมห้องอื่น ๆ นั้นก็หมายความว่าการต่อเติมห้องเก็บของเพียงห้องเดียวนั้นดูจะไม่คุ้มกับ เวลา เงินทุน และผลที่ได้ เราสามารถต่อเติมห้องอยู่อาศัย เปลี่ยนแปลงห้องครัวเดิมเป็นห้องอื่น ๆ แล้วต่อเติมห้องครัวและห้องเก็บของขึ้นมาพร้อมกันดูจะคุ้มค่ากว่า

ส่วนการกั้นห้องหรือบริเวณขึ้นมาใหม่นั้น เราก็สามารถทำได้ 2 ลักษณะเช่นเดียวกัน คือ

1.  กำหนดบริเวณขึ้นมาใหม่ (กั้นห้อง)

2.  ดัดแปลงห้องอื่น ๆ เป็นห้องเก็บของ

กรณีที่ 1  เป็นกรณีปกติ ที่มีเนื้อหาละเอียดพอสมควร เพราะการกำหนดบริเวณหรือกั้นห้องขึ้นมานั้นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในแง่ ของพื้นที่ ความเป็นสัดส่วน ความสามารถในการรับน้ำหนัก ความสะดวกเหมาะสมต่อการเข้าถึง ต่อการใช้สอย และความสัมพันธ์กับห้องหรือบริเวณอื่น ๆ เกณฑ์เหล่านี้ก็คือ

       -มีความเป็นสัดส่วน คือมักจะอยู่ใน “ส่วนบริการ” ของตัวบ้าน ซึ่งก็ได้แก่อยู่ในบริเวณที่ใกล้กับห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเด็กรับใช้ ห้องทำงานบ้าน

       -มีความสามารถในการรับน้ำหนักหมายถึงว่าอยู่ในส่วนโครงสร้างหลัก ๆ ของอาคาร การต่อเติมห้องเก็บของตรงระเบียบหรือส่วน “ยื่น” ต่าง ๆ ของตัวบ้านอาจไม่เหมาะสม เพราะอาจมีการแอ่นหรือทรุดตัวของพื้นหากห้องเก็บของนั้น ๆ ต้องรับน้ำหนัก(บรรทุก)ของมาก ๆ

       -มีความสะดวกเหมาะสมต่อการเข้าถึง เพราะในกรณีที่เรานำสัมภาระต่าง ๆเข้าเก็บ ซึ่งอาจจะมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก จึงต้องมีความสะดวกต่อการนำเข้าและขนย้ายออก และไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ต้องผ่านห้อง หรือบริเวณต่าง ๆ ให้มากนัก เช่น ผ่านห้องรับแขก ผ่านห้องครัว เป็นต้น เพราะห้องรับแขกและห้องครัวมักจะมีเฟอร์นิเจอร์มากกว่าห้องอื่น ๆ ซึ่งจะกีดขวางทาง

       -ความสัมพันธ์กับห้องหรือบริเวณอื่น ๆ อาจจะมีเกณฑ์คล้ายกับข้อที่ผ่านมา แตกต่างกันที่การกำหนดของที่จะเก็บในห้องว่าเป็นของสำรองใช้ ของเก่า หรือของเฉพาะกิจ โดยเฉพาะของสำรองใช้ และของเฉพาะกิจต้องอยู่ใกล้และสะดวกต่อการหยิบใช้ของนั้น ๆ เช่น บ้านที่มีการจัดเลี้ยงบ่อย จะกำหนดห้องเก็บถ้วยชามไว้ใกล้ห้องจัดเลี้ยง (ห้องอาหาร) บ้านที่มีสมาชิกมาก ของใช้สิ้นเปลือง เช่น ผงซักฟอก สบู่ ก็ต้องกำหนดอยู่ใกล้กับส่วนใช้สอยนั้น ๆ หากเป็นห้องเก็บเครื่องมือช่าง เครื่องมือสนาม ก็ควรอยู่ใกล้กับห้องหรือบริเวณทำงานนั้น ๆ

ดังนั้นหากไม่ติดปัญหาใดดังกล่าวแล้ว การกั้นห้องตามเกณฑ์ดังกล่าวจะให้ผลดีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมก็เข้าใจดีอยู่ว่าการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวนั้นเป็นทฤษฎีมากเสียจนอาจจะ ปฏิบัติตามได้โดยครบถ้วน เพื่อป้องกันคำสบถจากท่าน ก็ต้องสรุปบริเวณที่จะกั้นห้องเอาไว้ให้เลย จะได้เห็นภาพมากกว่าที่จะฟังแล้วไปหาภาพเอาเองดังนี้

       -ระหว่างห้องอาหารกับห้องรับแขก

       -ติดกับห้องน้ำ

       -อยู่ในบริเวณเรือนคนใช้

       -ต่อเติมพร้อมกับการต่อเติมส่วนอื่น ๆ

การดัดแปลงห้องอื่นเป็นห้องเก็บของ กรณีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและง่ายต่อการปฏิบัติ บริเวณที่ “ฮิต” มากที่สุดก็คือบริเวณใต้บันได เพราะจะมีที่ว่างเหลืออยู่ เพียงแต่กั้นผนัง(เบา) ทำประตูก็ใช้เป็นห้องเก็บของได้ เช่นเดียวกับที่ว่างเหนือโถงบันได(ชานพัก) เราสามารถทำบันไดต่อจากชั้นบน (เหมือนกับจะขึ้นบันไดต่อไปชั้นสาม) แล้วก็ทำพื้นกั้นเป็นห้องเก็บของได้

ในกรณีที่มีการต่อเติมบ้านนั้น สามารถออกแบบที่ผังกำหนดห้องเก็บของเข้าไปแทนที่ส่วนเก่า ย้ายส่วนเก่าไปไว้ในส่วนต่อเติมได้ เช่น บ้านที่กำหนดห้องเด็กรับใช้เอาไว้ในส่วนของตัวบ้านในกรณีที่จะต่อเติมเรือน ครัวและห้องเด็กออกไปต่างหากก็ดูเหมาะสมดี และสามารถใช้ห้องเด็กเดิมนั้นเป็นห้องเก็บของได้

วัสดุที่ใช้ต่อเติมดัดแปลง เนื้อหาของวัสดุกั้นห้องนั้นก็คงจะไม่ต่างจากการต่อเติมทั่วไป วิธีการที่เหมาะสมที่สุดก็คือการใช้วัสดุบุ เช่น ไม้อัด แผ่นยิปซั่มดูจะดีกว่า เพราะไม่เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้าง สามารถกั้นห้องได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องเตรียมการมาก นอกจากนี้แล้วก็ยังสามารถใช้วัสดุก่อสร้างอื่น ๆได้ตามปกติ แต่จะต้องมีการออกแบบโครงสร้างรับวัสดุก่อสร้างนั้น ๆ ให้สอดคล้องกันไปด้วย

แสงสว่างและการระบายอากาศ

แสงสว่างในห้องเก็บของมีความสำคัญน้อยกว่าการระบายอากาศ เพราะการระบายอากาศมีผลต่อความแห้ง ความอับชื้น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพของของที่เก็บ   โดยทั่วไปห้องเก็บของที่ระบุในบ้านเรานั้นมักจะเป็นห้องทึบ ใช้ไฟฟ้าเป็นแสงสว่าง ในทางปฏิบัติควรทำเป็นห้องที่มีการระบายอากาศ โดยทำเป็นช่องระบายอากาศแบบใด ๆ ก็ได้อยู่ส่วนบนของห้อง เช่น อยู่ในระดับ 2 เมตร จากพื้นห้อง เพื่อจะได้มีที่(ผนัง)สำหรับทำหิ้งหรือวางของได้มาก

ส่วนการทำช่องแสงนั้นสามารถกำหนดให้มีหรือไม่ก็ได้ ช่องแสงจะให้ประโยชน์ต่อการใช้ห้องในเวลากลางวัน สำหรับแสงไฟฟ้าที่ใช้สามารถติดตั้งได้ทั้งหลอดฟลูออกเรสเซนต์ และหลอดอินแคนเดสเซนต์(หลอดกลม) ในปริมาณวัตต์ที่ต้องการตั้งแต่ 20 w – 60 w

วัสดุบุผิว หมายถึงวัสดุที่ใช้บุผนังและพื้นของ ห้องเก็บของ โดยทั่วไปจะไม่พิถีพิถันกันมาก มักจะเป็นพื้นซีเมนต์ขัดมัน พื้นปาร์เก้ต์ ผนังไม้อัดทาสี ผนังฉาบปูนเรียบทาสี ฯลฯ สรุปแล้ววัสดุบุผนังสามารถใช้วัสดุได้ทุกชนิด ไม่มีข้อจำกัด ยกเว้นเสียหน่อย ก็คือยกเว้นผนังกระจก เพราะมีความเปราะและโปร่งใส(ไม่ให้ความิดชิด)


Credit : homedecorthai.com