“สวนครัว” สวนที่คนสมัยใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น ปัจจุบันมีการวางรูปแบบที่เด่นชัดและแบ่งพื้นที่ในการปลูกไว้อย่างชัดเจน สวนครัวเป็นสวนที่จัดง่าย สามารถใช้เป็นสวนประดับและนำมากินได้ สวนครัวจึงไม่ได้อยู่แค่หลังบ้านอีกต่อไป เพียงแค่จัดสวนให้สะอาดก็สามารถนำออกมาโชว์หน้าบ้านได้
-จัดสวนครัวเป็นสวนแขวน
เมื่อจัดสวนครัว พรรณไม้หลักนั้นต้องเป็นพืชผัก แต่การเลือกต้องคำนึงถึงความสูงและลักษณะของพืชที่จะเอามาแขวน โดยอาจจะนำโซ่เหล็กธรรมดามาตกแต่งเพื่อสร้างความเท่ห์ให้กับสวน หรืออาจจะเลือกใช้เชือกป่านมาร้อยแทนคู่กับกระถางดินเผาก็เก๋ไก๋ไปอีกแบบ
จากพื้นที่ข้างอาคาร ซึ่งมีลักษณะเป็นแปลงยาวและแคบรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เราสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน
- ส่วนแรก แปลงขนาด 1.5 x 3 เมตร เน้นการปลูกผักให้เป็นพุ่มโค้งรับไปตามขอบของพื้นที่ มีการเว้นที่บางส่วนไว้ปูอิฐมอญเป็นพื้นแข็ง สำหรับให้เข้าไปดูแลรักษาสวนครัว แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ฝังอ่างสำหรับปลูกผักที่เป็นพรรณไม้น้ำ โดยพันธุ์ผักที่เลือกใช้ในบริเวณนี้คือ ปูเล่ สะระแหน่ มะเขือ กะหล่ำประดับ ชะพลู ตะไคร้ ยี่หร่า กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนู เตยหอม แว่นแก้ว และบัวบก
- ส่วนที่สอง ขนาด 1 x 1.5 เมตร เน้นการจัดวางไม้กระถางและการปลูกผักเป็นแปลง ส่วนพันธุ์ผักที่เลือกใช้คือ บวบเหลี่ยม กะหล่ำประดับ ผักชีฝรั่ง กะเพรา พริกขี้หนู ส้มจี๊ด สะระแหน่ และขึ้นฉ่าย
จากนั้นเลือกใช้องค์ประกอบสวนเป็นตัวเชื่อมโยงสวนเข้าด้วยกันคือ วางซุ้มไม้เลื้อยระหว่างพื้นที่ทั้งสอง ใช้รั้วไม้ไผ่กั้นเป็นตัวหยุดสายตา และเลือกใช้วัสดุปูพื้นประเภทเดียวกัน คือ อิฐมอญ
หลังจากเลือกพื้นที่สำหรับจัดสวนครัวแล้ว จึงกำหนดขนาดให้เหมาะสมกับความต้องการ โดยขั้นตอนสำคัญของการจัดสวนคือ การเตรียมดินและลงปลูก เพราะหากทำได้ไม่ดีจะทำให้สวนครัวไม่เจริญงอกงาม
-เลือกพืชสรรพันธุ์ไม้
วิธีการเลือกพืชสวนครัวก็เหมือนกับการ เลือกใช้ไม้ประดับทั่วๆไป โดยให้ดูที่ผิวสัมผัสของใบ ขนาดทรงพุ่ม และลักษณะนิสัย แต่การจัดสวนครัวในรูปแบบสวนประดับนั้นไม่เหมือนกับการปลูกผักทั่วๆไปที่ ปลูกเป็นแถวหรือเป็นแนวยาวตามขนาดของแปลง แต่จะต้องจัดวางหรือปลูกต้นไม้แบบผสมผสานกัน โดยปลูกสลับกลุ่มสลับแปลง ซึ่งข้อดีของการปลูกแบบนี้นอกจะสร้างความสวยงามแล้ว ยังช่วยลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้
Credit : bloggang ปุ๋ยกะแมงปอ