เจ้าของบ้านหลังนี้คือ คุณนาง - พีรยา บุนนาค เจ้าของร้าน Magnifique ร้านเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากฝรั่งเศส และคุณปีเตอร์ ชี สามี ซึ่งหลงรักทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับสไตล์โปรวองซ์อย่างเต็มหัวใจ จึงดึงรูปแบบบ้านเรือนและบรรยากาศเมืองเก่าของฝรั่งเศสแห่งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ โดยให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดการออกแบบ เพื่อให้ได้บ้านสวยของครอบครัวในแบบฉบับสไตล์โปรวองซ์แท้ๆ
สังเกตว่าทั้งทำเลที่ตั้ง รูปแบบของบ้าน การจัดสวน และการเลือกพรรณไม้ มีความเหมาะสมใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมของเมืองต้นแบบอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันของทั้งเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ คุณนางเล่าถึงการทำบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า
"ตามหาทีมออกแบบก่อสร้างบ้านสไตล์โปรวองซ์จากหนังสือตกแต่งบ้านฝรั่งเศสเล่มหนึ่ง จนได้พบสถาปนิกและทีมงานที่ก่อสร้างบ้านหลังที่ชอบในเล่มนั้น ก็ขอให้เขาช่วยเป็นที่ปรึกษาการออกแบบบ้านหลังนี้ เพราะอยากให้เป็นบ้านสไตล์โปรวองซ์ที่สมบูรณ์แบบ”
คุณปีเตอร์เสริมว่า "เราไม่ต้องการทำแบบหลอกๆ แบบปะหน้า ดูรูปแล้วก็ทำ ไม่เอา เราให้คนที่สร้างบ้านสไตล์นี้จริงๆมาเป็นที่ปรึกษาเลย และทำตามแบบที่เคยทำในสมัยก่อนด้วย"
รูปแบบของงานสไตล์โปรวองซ์แท้ๆคือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เช่น ทำเลที่ตั้งมักห้อมล้อมด้วยภูเขาสูง นิยมอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเล็กๆตั้งเรียงรายลดหลั่นกันไป แต่ละบ้านจะมุงหลังคากระเบื้องดินเผา ตัวบ้านก่อสร้างด้วยคอนกรีตฉาบปูนสีอมแดง (ตามสีของดิน)
ก่อผนังให้มีความหนาเป็นพิเศษเพื่อปกป้องบ้านจากสภาพอากาศภายนอกที่อาจร้อนหรือหนาวเกินไป เอกลักษณ์ดังที่กล่าวมาทำให้บ้านสไตล์นี้ดูมีเสน่ห์ของบ้านโบราณ ให้ความรู้สึกอบอุ่น น่าพักอาศัย คุณปีเตอร์พูดถึงเสน่ห์อีกอย่างของบ้านสไตล์นี้ว่า
“สไตล์โปรวองซ์เปรียบเทียบตัวเองว่าเป็น Perfect Imperfection หมายถึงความสวยสมบูรณ์แบบไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ความสวยงามไม่จำเป็นต้องเนี้ยบเสมอไป แม้จะมีตำหนิบ้าง แต่นั่นก็คือความงามอย่างหนึ่งที่มีเสน่ห์”
บ้านหลังนี้แม้มองจากภายนอกจะรู้สึกว่าไม่ได้ใหญ่โตเท่าใดนัก หากภายในก็มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 500 ตารางเมตรเลยทีเดียว ชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ครัว ห้องน้ำ และห้องนอน 3 ห้อง ชั้นบนเป็นห้องนั่งเล่น และห้องนอน 2 ห้อง
รายละเอียดการตกแต่งได้รับการเลือกสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้หลุดคอนเซ็ปต์ของบ้าน ของตกแต่งชิ้นเล็กๆน้อยๆอย่างมือจับประตู ผ้าม่าน รวมไปถึงกรอบวงกบ และประตูหน้าต่าง เป็นของนำเข้าจากฝรั่งเศสแทบทั้งหมด ทำให้ภาพรวมของงานตกแต่งมีความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของตัวบ้าน แม้กระทั่งงานระบบก็มีการออกแบบให้วางอยู่ใต้พื้นดิน เพื่อให้บรรยากาศรอบบ้านสวยทุกมุม
อย่างที่บอกไปแล้วว่านอกจากตัวบ้านแล้ว การออกแบบจัดสวนก็มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับจริงมาก แม้จะดัดแปลงมาปลูกต้นไม้ที่โตได้ดีในเมืองไทย แต่ก็เน้นไม้ที่มีใบละเอียด เช่น ลาเวนเดอร์ แวววิเชียร หรือปลูกไม้เลื้อยในกระถางเอิร์น ซึ่งช่วยเสริมให้อารมณ์แบบโปรวองซ์เด่นชัดยิ่งขึ้น เรียกว่าใครที่ได้มาเยือนต่างก็ประทับใจทุกคน รวมถึงฉันและทีมงานด้วย
“เพื่อนชอบบ้านหลังนี้กันทุกคน แอบยุให้พี่สร้างบ้านสไตล์นี้เพิ่มอีกหลายๆหลังด้วย ให้อยู่ใกล้ๆกันในบริเวณนี้ ก็เลยมีความคิดว่าจะสร้างบ้านลักษณะนี้สำหรับผู้หลงรักความเป็นโปรวองซ์ เพื่อให้กลายเป็นชุมชนเล็กๆที่ชอบอะไรเหมือนกัน” คุณนางกล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม
บ้านหลังงามซึ่งตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าหลงใหล เมื่อรวมกับการต้อนรับที่แสนอบอุ่นของเจ้าของบ้าน แล้วจะไม่ให้หลงรักบ้านโปรวองซ์หลังนี้ได้อย่างไร ...
Design Details
แต่งอย่างไร...สไตล์โปรวองซ์
สไตล์โปรวองซ์แบบดั้งเดิมมีลักษณะเด่นอยู่หลายอย่าง เช่น หลังคาดินเผา พื้นหิน รวมถึงการใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น ไม้ เหล็ก หรือผ้า เราสามารถดึงรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจมาปรับให้เหมาะกับการตกแต่งบ้านได้ เพื่อให้เกิดความสวยงามและได้อารมณ์เหมือนของต้นฉบับ ตัวอย่างเช่น
A. ผนัง บ้านสไตล์โปรวองซ์แบบดั้งเดิมนิยมฉาบผนังบางๆหลายชั้น โดยใช้ดินในท้องถิ่น (ดินฉาบช่วยลดอุณหภูมิของบ้านให้เย็นลงด้วย) โทนสีจะออกชมพูไปจนถึงแดงส้ม นอกจากนี้ยังนิยมใช้ใบโรสแมรี่ปาดผนังตอนที่ยังหมาดๆ เพื่อให้เกิดเท็กซ์เจอร์สวยๆ ปัจจุบันก็ปรับมาใช้ผนังปูนทำผิวขรุขระ และเพื่อให้ได้ผิวสัมผัสที่มีจังหวะสวยงาม ควรใช้ช่างผู้มีความชำนาญ
B. หลังคา บ้านหลังนี้ใช้หลังคากระเบื้องดินเผาลอนกาบกล้วยซึ่งมีลอนครึ่งวงกลมทรงสอบ เป็นของนำเข้าจากฝรั่งเศส แต่ละแผ่นจะมีตำหนิและลวดลายไม่ซ้ำกัน เป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สะท้อนถึงความสวยงามแบบไม่เนี้ยบ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสไตล์นี้
C. พื้น บ้านในโปรวองซ์จริงๆจะใช้พื้นหินจากในท้องถิ่น เจ้าของบ้านหลังนี้ประยุกต์ใช้หินในไทยแทน โดยเลือกสีและลวดลายใกล้เคียงกับของต้นฉบับ หินแต่ละแผ่นจะถูกกระเทาะขอบ เพื่อให้ได้ขอบที่มีรอยแตกรอบๆเหมือนหินโบราณ ให้อารมณ์ดิบๆ วัสดุชนิดนี้ยังช่วยให้อุณหภูมิในบ้านเย็นลงด้วย
D. ชั้นวาง บ้านหลังนี้ใช้เทคนิคการก่ออิฐฉาบปูนสองชั้น โดยติดฉนวนกันความร้อนไว้ตรงกลาง ทำให้ผนังบ้านหนาเป็นพิเศษถึง 35 เซนติเมตร ช่วยให้อุณหภูมิของบ้านไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ข้อดีอีกอย่างของผนังหนาๆคือทำเป็นชั้นวางของแบบบิลท์อินได้ ชั้นวางที่เห็นใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมของสไตล์โปรวองซ์คือการฉาบผนังให้โค้งและทำขอบยื่นออกมาสองข้าง พร้อมวางไม้เป็นชั้นวาง
E. ผ้า สไตล์โปรวองซ์เน้นการใช้วัสดุออร์แกนิก ผ้าที่ใช้ในการตกแต่งอย่างผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน หรือปลอกหมอน ส่วนใหญ่จึงมาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าลินิน หรือผ้าฝ้าย
F. เหล็กเส้น นิยมใช้วัสดุชนิดนี้ผสมผสานในงานตกแต่งด้วย เช่น ใช้เหล็กเส้นกลมดัดโค้งเป็นราวกันตกระเบียง แต่จะปล่อยให้เกิดสนิมสักพัก ก่อนทาผิวเคลือบ เพื่อให้เห็นร่องรอยของสนิม ซึ่งเป็นไปตามหลักการสวยแบบไม่ต้องเนี้ยบของสไตล์นี้
G. พรรณไม้ แนะนำเฟื่องฟ้า ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสวนสไตล์โปรวองซ์ และไม้ชนิดนี้ก็เติบโตได้ดีในประเทศไทย นอกจากนี้เรายังสามารถนำพรรณไม้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ใช้ในสวนสไตล์นี้มาใช้แทนได้ เช่น สนบลู สนบอม หรือไม้ดอกน่ารักๆอย่างมากาเร็ตสีโทนม่วงและฟ้า